วันที่ 29 ม.ค.68 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการ กฤษฎีกาตั้งกฤษฎีกาคณะพิเศษ ปรับแก้ร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …หรือ เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่มีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมกฤษฎีกาคณะพิเศษชุดดังกล่าว  ส่วนคณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายธงทอง จันทรางศุ นายไพโรจน์ วายุภาพ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่มีนักกฎหมายชั้นนำ มาร่วมกันพิจารณาในเรื่องนี้จะทำให้ร่างดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า การเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่เป็นคนละประเด็นแต่สิ่งที่เราทำคือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เราเป็นเหมือนพ่อครัวที่คอยปรุงและใส่วัตถุดิบตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ถ้ามีบางอย่างที่เขาไม่ต้องการและเราทักท้วงแต่เขายืนยันจะเป็นแบบนั้นก็ต้องตามใจลูกค้า และเรื่องนี้ต้องถามสังคมจะว่าอย่างไร ถึงจะมาทำให้สอดคล้องกับความต้องการ แต่ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อนโยบายมาแบบนี้ โดยแถลงต่อรัฐสภาไปแล้วสิ่งที่เราต้องทำให้สอดคล้องกับนโยบาย การทำความเข้าใจกับประชาชน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชี้แจงและดำเนินการอยู่ 

ส่วนเสียงเรียกร้องให้มีการทำประชามติ นายปกรณ์ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นนโยบาย กฤษฎีกาไม่เกี่ยวข้อง โดยเราพยายามทำให้กฎหมายครอบคลุมทุกมิติ ไม่ต่างกับการยกเรือสำราญที่มีทุกกิจกรรมมาไว้บนบก ซึ่งหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยหลักคือ กระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่น กระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้องเรื่องภาษีและคมนาคม ในเรื่องของเส้นทาง

เมื่อถามว่าใช้กรอบเวลาดำเนินการนานแค่ไหน เลขาฯกฤษฎีกา กล่าวว่า รัฐบาลบรรจุไว้ในแผนกฎหมายเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการภายใน 50 วัน และกฤษฎีกาพยายามทำให้ทัน ขณะนี้ประชุมสัปดาห์ละสองครั้ง คือวันอังคารและพฤหัส และพยายามหาวันว่างเพิ่มขึ้น เราต้องรีบทำ