กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อเป็นโมเดลในการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยวางแผนการผลิตการเกษตรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล จากโครงการนำร่อง ที่ อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 206 ราย พื้นที่ 3,025 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตรวม 3,454.72 ตัน เกษตรกรสามารถขายได้ที่ความชื้นประมาณ 27 % โดยราคาที่จุดรับซื้อของสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จ.อุตรดิตถ์ ราคาประมาณ 8 บาท/กก.ซึ่งคาดว่าเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ย 8,365 บาทต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,810 บาทต่อไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ม.ค. 62) นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง การส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการมา 3 ปี โดยในปีการผลิต 2559/60 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 16,545 ราย พื้นที่ 148,949 ไร่ ในปีการผลิต 2560/61 มีเกษตรกรสมัครใจเข้าโครงการ 67,369 ราย พื้นที่ 452,827.75 ไร่ และในปีการผลิต 2561/62 มีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 96928 ราย พื้นที่ 814,916 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) ทั้งนี้ การรับสมัครในปี 2561/2562 นี้ ยังรับสมัครไปถึง วันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นพืชทางเลือกที่ดีอีกพืชหนึ่ง ในการดำเนินการ เนื่องจากยังมีความต้องการใช้สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ภายในประเทศ มากถึง 8 ล้านตัน แต่มีปริมาณการผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน และยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย มากกว่า ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของข้าว อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังปรับรูปแบบการทำงานโดยมีทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานแบบบูรณาการ โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต สำหรับด้านการตลาด ได้วางระบบให้สหกรณ์การเกษตร เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการดำเนินโครงการ ตั้งจุดรับซื้อทั้งหมด 324 จุด แบ่งเป็นจุดรับซื้อของสหกรณ์ 292 จุด และจุดรับซื้อของเอกชน 32 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 386 อำเภอ ใน 37 จังหวัด ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ความชื้น 14.5 % อยู่ที่ 8.29 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจ