ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการกำหนดพื้นที่ปลูกสับปะรด ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สับปะรด ปี 2560-2569 และยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต ระยะที่ 1 (ปี 2561-2564) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานแปรรูปสับปะรด 100 กิโลเมตร เพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่งโรงงานแปรรูปสับปะรด และกลุ่มที่ 2 จังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อการบริโภคผลสด สำหรับจังหวัดพิษณุโลก และอุตรดิตถ์ จัดอยู่ในจังหวัดกลุ่มที่ 2 จังหวัดที่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด กำหนดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อการบริโภคผลสด นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ผลการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ถึงแนวทางบริหารจัดการสับปะรดใน 2 จังหวัดดังกล่าว พบว่า การปลูกสับปะรดในพื้นที่ความเหมาะสมมาก (S1) และปานกลาง (S2) จังหวัดพิษณุโลก มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S1 และ S2 จำนวน 1,695 ไร่ และจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 2,342 ไร่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนสายพันธุ์เป็นสับปะรดบริโภคผลสดที่มีคุณภาพ ทั้งด้านการผลิตและกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เช่น MD2 พันธุ์ฉีกตา หรืออื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ รวมทั้งควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการภายใต้การส่งเสริมเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ การปลูกสับปะรดในพื้นที่ความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) จังหวัดพิษณุโลก มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S3 และ N รวมจำนวน 9,224 ไร่ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิด ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ มีต้นทุนการผลิต 14,280 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 34,500 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิ 20,220 บาท/ไร่ ซึ่งตลาดส่งออกทั้งสหภาพยุโรปและเอเชีย ยังคงมีความต้องการมะม่วงน้ำดอกไม้คุณภาพอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนการผลิต 4,722 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 6,559 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทนสุทธิ 1,837 บาท/ไร่ โดยภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยมีแนวโน้มต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีการปลูกสับปะรดในพื้นที่ S3 และ N จำนวน 6,227 ไร่ มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด ได้แก่ มะขาม สามารถจำแนกเป็น 2 ชนิด คือ มะขามหวาน มีต้นทุนการผลิต 7,493 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 18,450 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 10,957 บาท/ไร่ และมะขามเปรี้ยว มีต้นทุนการผลิต 3,233 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 8,440 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 5,207 บาท/ไร่ ซึ่งต้นทุนการผลิตมะขามหวานจะสูงกว่าเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา อาทิ ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลต่อคุณภาพผลผลิตและราคาที่จำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น มะม่วงหิมพานต์ มีต้นทุนการผลิต 4,337 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 13,370 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 9,033 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตทั้งมะขามและมะม่วงหิมพานต์ เกษตรกรจะจำหน่ายให้แก่พ่อค้ารับซื้อจากจังหวัดเพชรบูรณ์ และปัจจุบันปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ด้าน นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมี 2 ชนิดสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ ถั่วเหลือง และ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทั้งด้านพื้นที่และด้านเศรษฐกิจสำหรับปลูกทดแทนสับปะรดในพื้นที่ S3 และ N โดยผลผลิตถั่วเหลืองยังไม่เพียงพอ ไทยต้องนำเข้ามากถึงเกือบร้อยละ 95 แต่เนื่องจากขาดแคลนแรงงานผลิต การดูแลที่ค่อนข้างยาก เกษตรกรจึงได้ผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ภาครัฐควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา สนับสนุนให้มีการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรกลทดแทนการใช้แรงงานคนเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ดีและราคาเป็นธรรมเพื่อให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก ตลอดจนจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาตลอดอายุการเก็บเกี่ยว เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ อีกทั้งมีความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลังในประเทศเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงควรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ จาก 5 ตันต่อไร่ ในปี 2562 เป็น 7 ตันต่อไร่ ในปี 2569 ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ การทำระบบน้ำหยด และการผลิตมันเส้นเอง ตลอดจนเพิ่มมาตรการกำกับดูแลการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ควบคู่ไปกับการขยายตลาดส่งออก ลดการพึ่งพาตลาดจีนเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการค้า ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมกันวางแนวทาง หรือนโยบายสำหรับแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยเร็ว และควรให้ความสำคัญการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการเพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าแก่เกษตรกรได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด เพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ที่จะเป็นปัญหาหรือส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร และเร่งแก้ปัญหาภาคเกษตรในพื้นที่ต่อไป