นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ภาพรวมผู้โดยสารมีจำนวน 140 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15.12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีการฟื้นตัว 85.14% เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินในปี 2567 ในภาพรวมมีจำนวนมากถึง 8.8 แสนเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 11.90% เมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตมากกว่าสถานการณ์ปกติ คิดเป็น 101.63% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีจำนวนมากกว่าปี 2566 ถึง 22.4% จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการบินในปี 2568 มีทิศทางในการฟื้นตัวและสามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกันกับปี 2562 

ขณะที่ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมการบินของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก และมีการคาดการณ์จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ว่าตลาดการบินของไทยมีโอกาสขยายตัวจนขึ้นสู่อันดับที่ 9 ของโลกภายในปี 2576 ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางการบินที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลกอย่างชัดเจน ดังนั้นแล้วหน่วยงานด้านการบินจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการ การรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล รวมทั้งต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 

โดยในด้านการออกใบอนุญาตปี 2567 CAAT ได้ออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน หรือ AOL เพิ่ม 3 ราย ประกอบด้วย 1. บริษัท แอร์ เอเอ็มบี จำกัด 2. บริษัท บีบีเอ็น แอร์ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด และ 3. บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด และต่ออายุ AOL 5 ราย 

นอกจากนี้ ได้ออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ AOC ให้ 4 ราย คือ 1. บริษัท พัทยา แอร์เวย์ส จำกัด 2. บริษัท สยามชีเพลน จำกัด 3. บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด และ 4. บริษัท ไทย ซีเพลน จำกัด ทำให้มีสายการบินเข้ามาในตลาดการบินเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนอากาศยานที่มีทะเบียนและได้รับใบสำคัญสมควรเดินอากาศสะสมจนถึงปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 656 ลำ เพิ่มขึ้นจากปี 2566  จำนวน 47 ลำ คิดเป็น 4.46%

ขณะที่ผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาราคาตั๋วเครื่องบิน พบว่า มาตรการการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่สายการบินให้ความร่วมมือ และมีที่นั่งเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ที่นั่งนั้น ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและผู้โดยสารเข้าถึงราคาตั๋วเครื่องบินได้มากขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ CAAT ได้หารือ ร่วมกับสายการบินและผู้ให้บริการทุกหน่วยงานในการเตรียมมาตรการรองรับด้านต่างๆ  เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางและได้ราคาตั๋วเครื่องบินที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาตั๋วเครื่องบิน นั้น CAAT อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาวิเคราะห์สำหรับการทบทวนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นำมาปรับสมดุลด้านราคาตั๋วทุกมิติให้เกิดประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลมากขึ้น เช่น การเพิ่มความสามารถให้กับระบบการบินของประเทศ อาทิ เที่ยวบิน สายการบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ได้เตรียมความพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ FAA CAT 1 ซึ่งประโยชน์จะเกิดขึ้นเศรษฐกิจประะทศไทย อาทิ สายการบินของไทยสามารถจัดสรรเที่ยวบินบินตรงไปยังสหรัฐอเมริกาได้ ,สายการบินของไทยทั้งสายการบินใหม่ และสายการบินเดิม สามารถเพิ่มเทียวบินไปยังประเทศที่อ้างอิงผลการตรวจสอบของ FAA เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือฮ่องกง ได้ ,นักบินสัญชาติไทยมีโอกาสในการทำงาน กับสายการบินต่างชาติเพิ่มมากขั้น และเพื่อเพิ่มโฮกาสทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศไทย