วันที่ 28 ม.ค.68  รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ระบุข้อความว่า...คำกล่าวของอ.เจษฎ์ โทณะวณิก ในวันที่ไปร่วมกับคปท.ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า....
“ถ้าประชาธิปไตยมันชั่วแบบนี้ ก็เลิกประชาธิปไตยไปเถอะครับ” ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสื่อบางสื่อ และจากคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยหลายคน โดยไม่พยายามทำความเข้าใจเลยว่า บริบทที่ทำให้อ.เจษฎ์พูดเช่นนั้น คืออะไร 

นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 มาถึงปัจจุบันเข้าปีที่ 93 แล้ว คุณภาพนักการเมืองในทุกด้านที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาโดยเฉลี่ยนับวันจะต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรฐานทางจริยธรรม 

หากระบอบประชาธิปไตยดีจริงสำหรับประเทศไทย ทำไมจึงมีคนในตระกูลชินวัตร หรือเกี่ยวดองกับตระกูลชินวัตรจึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน น้องสาวคุณทักษิณซึ่งไม่ประสีประสาทางการเมือง ใช้เวลาเพียง 49 วันหลังการเปิดตัวก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ลูกสาวคุณทักษิณที่ไม่เคยผ่านการบริหารองค์กรใดๆมาเลยในชีวิต อย่าว่าแต่บริหารประเทศ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงเพราะเป็นลูกสาวคุณทักษิณ ซึ่งความรอบรู้ในเรื่องเศรษฐกิจ การวางตัว วุฒิภาวะเหมาะสมหรือไม่ที่จะบริหารประเทศ ก็เป็นที่ประจักษ์กันแล้วโดยทั่วไป
 
หากระบอบประชาธิปไตยดีจริงสำหรับประเทศไทย ทำไมเราจึงได้รัฐบาลที่ต้องเดินตามแนวทางและทำตามคำสั่งของคนที่เคยเป็นนักโทษในคดีทุจริตคอรัปชั่นอย่างเคร่งครัด แม้ว่าแนวทางดังกล่าว วิญญูชน และนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำของประเทศ และผู้ที่มีใจเป็นธรรมออกมาคัดค้านเพราะเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง รัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงดึงดัน และผลักดันต่อไป

Dr Hanns-Hermann Hoppe นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน-อเมริกัน ผู้เขียนหนังสือชื่อ  

Democracy - The God That Failed ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 มีความเห็นว่า รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตย  มักไม่ค่อยทำอะไรที่จะต้องรอเวลานานก่อนที่จะเห็นผล เป้าหมายหลักมักไม่ใช่การพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน แต่เป้าหมาย

หลักคือ ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สิ่งใดเห็นผลในระยะสั้นที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งครั้งหน้า จึงอยู่ในลำดับความสำคัญเหนือกว่าสิ่งที่ใช้เวลาเกิน 4 ปีจึงจะเห็นผล 

ด้วยเหตุนี้ นโยบายประชานิยมซึ่งเกิดผลทันทีต่อประชาชนจึงเป็นนโยบายยอดนิยมของพรรคการเมืองในยุคนี้ ซึ่งพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแรกที่นำมาใช้ในการหาเสียงจนได้เป็นรัฐาล และเมื่อเป็นรัฐบาล พรรคไทยรักไทยก็ทำได้จริงตามที่หาเสียงไว้ และประชาชนก็ได้รับผลทันที  แต่นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อประเทศที่ตามมา เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ต่อเนื่องมาเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในรัฐบาลเพื่อไทยในปัจจุบัน นโยบายนี้ ประชาชนเห็นผลทันทีและชื่นชอบอย่างยิ่ง แต่ผลเสียคือ โรงพยาบาลของรัฐต้องประสบกับภาวะขาดทุนกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ล่าช้าและไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อระบบการรักษาพยาบาลในระยะยาว แต่เรื่องนี้ผู้ลงคะแนนเสียงในประเทศเราไม่ค่อยใส่ใจ สนใจเพียงว่าตัวเองได้อะไรบ้างเท่านั้น 

ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามจะเอาใจกลุ่ม LBGTQ ด้วยการให้สามารถขอรับฮอร์โมนเพศฟรีได้ ฮอร์โมนในที่นี้ ไม่ใช่เพื่อการรักษา แต่เพื่อการปรับร่างกายให้เปลี่ยนเพศสภาพเป็นแบบที่ต้องการ แน่นอนว่าเป็นที่ถูกใจคนกลุ่มนี้ แต่เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เท่าเทียมกัน หรือนี่ไม่ใช่เป็นการใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีของผู้เสียภาษีทุกคนมาใช้หาเสียงกับคนกลุ่มเดียว 

ในประเทศเรา การเลือกตั้งทุกครั้ง ทุกระดับ ทั้งระดับ อบต อบจ และระดับประเทศ พรรคการเมือง และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องใช้เงินเพื่อให้ได้คะแนนเสียง และใช้เงินเป็นจำนวนที่มากจนน่าตกใจ ไม่เว้นแม้แต่การเลือกตั้งระดับกำนันผู้ใหญ่บ้าน 

ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดท่านหนึ่ง ท่านให้ความเห็นว่า ระบบการเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ออกแบบไว้ตั่งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ซึ่งไม่ใช่เป็นการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกร่วมกันโดยพูดคุยถามความเห็นจากลูกบ้านต่างๆ จะให้ยกมือสนับสนุนกันแบบเปิดเผยก็ได้ หรือจะให้หย่อนบัตรเลือกก็ได้ แต่ข้อสำตัญก็คือ ไม่ต้องหาเสียง แต่ใช้วิธีร่วมประชุมพูดคุยตกลงกัน ดังนั้นจึงไม่มีการซื้อเสียง และไม่เคยมีปัญหา แต่ปัจจุบันเป็นการเลือกตั้งเต็มรูปแบบ การซื้อเสียงจึงเกิดขึ้น 

ตั้งแต่ประเทศเรามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นต้นมา การทุจริต คอรัปชั่น ฉ้อราษฎ์บังหลวง เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน การทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นในทุกระดับและเกิดเป็นวงกว้าง จนการเรียกรับเงินจากประชาขนที่มาติดต่อขออนุญาตในเรื่องต่างๆจากส่วนราชการ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นที่ยอมรับจากประชาชนว่า เพื่อให้ได้รับความสะดวก ก็ต้องจ่ายเงิน 

นักรัฐศาสตร์อาวุโสและมีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง(ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) ให้ความเห็นว่า ตราบใดที่นักการเมืองยังต้องซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง การทุจริตคอรัปชั่นไม่มีทางหมดไปได้ คำพูดดังกล่าวข้างต้นของอ.เจษฎ์ จึงไม่ใช่เป็นการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นคำพูดที่แสดงถึงความหมดหวังต่อระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ในประเทศไทยต่างหาก จะว่าไปผมก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกันครับ