วันที่ 28 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องทุจริตเครื่องออกกำลังกายว่า วานนี้ (27ม.ค.) มีข่าวว่าตนยุติเรื่องทุจริตเครื่องออกกำลังกาย จึงขอชี้แจงว่ายังไม่ได้ยุติ ทุกอย่างยังดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นปี 2567 มี 3 กระบวนการตรวจสอบ คือ 1.การตรวจสอบทางวินัยโดย กทม. มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ว่าทำตามระเบียบกำหนดหรือไม่ โดย กทม.ไม่มีอำนาจตรวจสอบเส้นทางการเงิน 2.การตรวจสอบโดย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ 3.การตรวจสอบโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเข้ามาร่วมตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ด้วย

 

ส่วนเรื่องการตรวจสอบทางวินัยโดย กทม. มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยขึ้นมาตรวจสอบความจริงเบื้องต้นก่อน พบมีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องตรวจสอบ 33 คน ซึ่งตรวจสอบตามขอบเขตอำนาจที่แต่ละคนมี พบ 14 คนมีข้อมูลว่าผิดทางวินัย จึงต้องดำเนินการต่อไป ส่วน 19 คนที่เหลือไม่มีข้อมูลไปถึงความผิดทางวินัย จึงต้องยุติการสอบสวนดังกล่าว เพื่อให้ความเป็นธรรม ทั้งนี้ กระบวนการยังไม่สิ้นสุด ยังต้องดำเนินการในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ต่อไป

 

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การสอบสวนของ ป.ป.ช. เพราะมีการสอบสวนที่เข้มข้นไปถึงเส้นทางการเงิน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการสอบทางวินัยมีหลายครั้งที่ไปไม่ถึงความผิดทางวินัยร้ายแรง แต่มีการชี้มูลจาก ป.ป.ช. จึงต้องกลับมาลงความผิดทางวินัยเพิ่ม เพราะ ป.ป.ช.มีอำนาจในการสอบสวนทางอาญามากกว่า กทม. อย่างไรก็ตาม การสอบสวนทั้ง 3 กระบวนการยังดำเนินต่อไป ส่วนการนำเสนอข่าวว่าตนยุติการสอบสวนนั้นต้องเรียนว่า ผิด เพราะทุกอย่างยังดำเนินการต่อ

 

"การตรวจสอบทางวินัยของ กทม.จะเน้นตรวจสอบในแง่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เข้าใจว่าผลที่สอบออกมาสอดคล้องกับหน่วยงาน สตง. ดังนั้น สตง.ต้องมีการชดเชยค่าเสียหาย อยู่ระหว่างดำเนินการว่าใครต้องรับผิดชอบค่าเสียหายต่าง ๆ ส่วนรายชื่อยังระบุไม่ได้ ต้องผ่านกระบวนการสุดท้ายของ ก.ก. ไม่ได้มีการยุติใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องดูว่าสอบไปถึงใคร ถ้าใครไม่ถึงก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ถ้าใครที่ผิดก็ดำเนินการต่อ เรื่องนี้ยังอยู่ในกระบวนการต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว