ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จัดกิจกรรม “ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 16 : อ่านเพื่อสติ” ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันทำบุญใส่บาตรหนังสือให้กับพระภิกษุและสามเณร ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน
กิจกรรมใส่บาตรหนังสือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นบรรยากาศของการทำบุญในโอกาสขึ้นปีใหม่ ในปีนี้ได้จัดกิจกรรม “ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 16 : อ่านเพื่อสติ” เพื่อให้ทุกท่านได้มาร่วมทำบุญใส่บาตรหนังสือร่วมกัน ด้วยความตระหนักว่าการอ่านเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ด้านการจำ การคิดวิเคราะห์ สร้างเสริมจินตนาการ การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่อ่านก่อให้เกิด “สติ” ตระหนักรู้กับถ้อยคำในปัจจุบันขณะที่อ่าน การอ่านจึงมีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล ที่ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งรีบ จนอาจทำให้ขาดความละเอียดรอบคอบในการใช้ชีวิต จิตที่มี “สติ” เท่านั้น จึงจะสามารถระงับยับยั้งไม่ให้พลั้งเผลอไปกับสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่นได้
ในปีนี้ได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา สำนักพิมพ์ต่างๆ ร่วมกันใส่บาตรหนังสือ ถวายคูปองและจตุปัจจัย ให้แก่พระภิกษุ สามเณร จำนวน 61 รูป จาก วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดบวรนิเวศวิหาร วัดยานนาวา และวัดหัวลำโพง เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร เลือกหนังสือสื่อการศึกษา ได้ตรงตามความต้องการ ภายในศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์
ภายในงานยังได้จัดปาฐกถาธรรม หัวข้อ “อ่านเพื่อสติ” โดย พระเทพวัชรญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก พร้อมพิธี สวดมนต์บทสวดบารมี 30 ทัศ เพื่อความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิตตนเองและครอบครัว
พระเทพวัชรญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้ปาฐกถาธรรม หัวข้อ “อ่านเพื่อสติ” โดยมีใจความสำคัญว่า “ทุกวันนี้โรคภัยไข้เจ็บมีมาก ภัยธรรมชาติก็มีมาก นับเป็นความโชคดีถ้าใครก้าวข้ามปีเก่ามาสู่ปีใหม่ได้ ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงเดินหน้าตลอด ไม่เคยถอยหลัง สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องตั้งสติ และอ่านให้ออกก็คือ อ่านความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในยุคนี้มาแรงมาเร็ว และอ่านยาก เนื่องจากมีความเปราะบาง คลุมเครือ เหนือกาลเวลา ท่านทั้งหลายจะกำหนดอะไรก็กำหนดได้เฉพาะกำหนดการของเราคร่าวๆ เท่านั้น แต่จะกำหนดอะไรที่ละเอียดลงไปไม่ให้ผิดพลาดย่อมเป็นไปได้ยาก บางเรื่องก็ต้องทำใจ เพราะฉะนั้นหลักของพระพุทธเจ้าที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหลักที่ทำให้คนเข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าอยู่เหนือสิ่งที่เราจะกำหนดได้”
“เวลากับอารมณ์เป็นของที่มีค่ามาก แม้ว่าเขาจะให้เราเท่ากัน แต่เราทุกคนมีเวลาจำกัดไม่เท่ากัน ถ้าใครใช้เป็นคนนั้นก็มีคุณค่า เช่น อ่านเป็น ก็มีสติ ใช้เวลาเป็นก็ได้สติ ถ้าใช้ไม่เป็นก็เสียสติ อารมณ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราอยู่เหนืออารมณ์เราก็ได้สติ ถ้าเราถูกขับเคลื่อนด้วย ราคะ โทสะ โมหะ อิจฉาพยาบาท เราก็ขาดสติ”
“การอ่านของคนในโลกนี้มีทั้งอ่านด้วยตา อ่านด้วยสัมผัส และอ่านด้วยจิตวิญญาณ ปัจจุบันคนเป็นโรคเกี่ยวกับสายตากันมาก เพราะคนอ่านด้วยตา แต่อาจจะอ่านอะไรก็ไม่รู้ อาจจะเสียสติก็ได้ด้วยเหมือนกัน เพราะเรื่องราวที่อ่านก่อให้เกิดโทษ การอ่านด้วยภาพ ต่างจากการอ่านด้วยตัวหนังสือ ตัวหนังสือจะก่อให้เกิดจินตนาการ จะเห็นได้ว่าคนสมัยก่อนที่ไม่มีทีวี มีแต่ตัวหนังสือให้อ่าน แต่ทำไมเขาถึงทำอะไรได้ยิ่งใหญ่ไพศาล นั่นเป็นเพราะตัวหนังสือแต่ละตัวมีความหมายทางด้านจิตวิญญาณ การอ่านด้วยสัมผัสเช่น อ้อมกอดของแม่ที่กอดลูก ต่อให้อยู่ในศึกสงครามเขาก็จะไม่มีความกลัว เพราะอยู่ในอ้อมกอดของแม่ ที่อ่านใจของเขาได้ อ่านอารมณ์ของเขาได้อย่างทะลุ”
สามเณรณัฎฐชัย สุวรรณวงศ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้กล่าวถึงการเลือกสรรหนังสือจากการถวายคูปองของญาติโยมในวันนี้ว่า “วันนี้เลือกหนังสือเกี่ยวกับภาษา มีทั้งภาษาจีน และภาษาเกาหลี เพราะสนใจการเรียนภาษา เคยได้ไปทัศนศึกษาที่อินเดีย จึงรู้สึกว่าภาษาเป็นเรื่องทีมีประโยชน์ต่อการเรียนและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา”
ด้าน สามเณรปิยะชนะพร นามูลน้อย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 วัดยานนาวา กล่าวเกี่ยวกับหนังสือที่เลือกว่า “วันนี้เลือกหนังสือการ์ตูนความรู้ ชอบหนังสือที่มีภาพ เพราะชอบเรียนศิลปะ ชอบการวาดรูป ระบายสี เพราะคิดว่าศิลปะจะสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษา หรือสามารถนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้”
การอ่านมีคุณูปการให้เรามีสมาธิ การอ่านสะสมไปเรื่อยๆ ทุกวัน จะทำให้เรามีสติมากขึ้น สติจะทำให้เราอ่านทะลุสิ่งต่างๆ ได้ เพราะการทำสมาธิจะทำให้เราจัดระบบเก็บข้อมูลในสมองของเรา ในจิตของเรา ในสมองของเรามีข้อมูล ในจิตของเรามีอารมณ์ การทำสมาธิเหมือนการรีเฟชข้อมูล และลบข้อมูลที่ไม่ดีออกไปได้อีกด้วย
การใส่บาตรหนังสือจึงแตกต่างจากการใส่บาตรข้าวปลาอาหาร เพราะหนังสือเปรียบเสมือนอาหารสมองที่ต้องบ่มเพาะผ่านการอ่าน จนก่อให้เกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่า การให้หนังสือจึงเปรียบได้กับการให้ปัญญา ที่ก่อให้เกิดความอิ่มเอมใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร สามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่ยั่งยืนทั้งทางธรรมและสายสามัญ ก่อให้เกิดศาสนทายาทที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป