นักศึกษาหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ร่วมโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า ศึกษาเรื่องราวทรงคุณค่าในพื้นที่สงขลาเขาแดง/สิขร/ซิงกอร่า สงขลาแหลมสน และสงขลาบ่อยาง บูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย ต่อยอดสู่ทุนทางวัฒนธรรม  

เมื่อวันที่ 17 – 19 มกราคม 2568 นักศึกษาหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ซึ่งประกอบด้วย นางสาวนิรชา นกแก้ว นายรัชพล ทองหนู นางสาวอรอุมา สิงห์เปรม นางสาวศศิพร พรมเส้ง นายอภิชัย นุ่นปาน ชั้นปีที่ 2 นางสาวดุจเดือน ศักดี นายกรวิชญ์ ทาหาญ นางสาวซอดาน๊ะ บินโซ๊ะ นางสาวปิญดา พลเยี่ยม นายอดิศักดิ์ สมัครไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภายใต้ควบคุมดูแลโดย ผศ.วสิน ทับวงษ์ หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม เข้าร่วมโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการโรงแรมดาหลาวิลล์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ถนนรามวิถี , อาคาร ASA Cloud , ห้องประชุมสงขลาสู่มรดกโลก ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม โรงสีแดง (หับ โห้ หิ้น) ถนนครนอก เมืองเก่าสงขลาบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา และพื้นที่โบราณสถานเมืองสงขลาเขาแดง/สิขร/ซิงกอร่า อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

ผศ.วสิน ทับวงษ์ หลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม

โครงการในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเปิดหัวข้อ “พลังเยาวชนกับการสร้างความเปลี่ยนแปลง” นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทภาคพลเมืองกับการปกป้องโบราณสถาน” โดย นายพงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดี กรมศิลปากร อดีตผู้อำนวยการสำนักโบราณคดีที่ 11 สงขลา ; นายวันชัย พุทธทอง บรรณาธิการเพจข่าว “สื่อเถื่อน” ; ผศ.สดใส ขันติวรพงศ์ นักเขียนและนักแปลอิสระ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา และ นายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ร่วมด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันจาก ผศ.ดร.พรชัย นาคสีทอง คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ม.ทักษิณ และ ผศ.วสิน ทับวงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา

ทั้งนี้ นักศึกษาหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม SKRU ได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมฯ มากที่สุด ร่วมกับนักศึกษาจากต่างสถาบัน รวม 35 คน และแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อวางแผนและผลิตสื่อสารสนเทศจากประสบการณ์การเข้าร่วม พร้อมทั้งลงพื้นที่ภาคสนาม นับเป็นโอกาสที่ทั้งอาจารย์และนักศึกษาของทางหลักสูตรฯ ได้บริการวิชาการ ต่อยอดการเรียนการสอนและการวิจัยที่มีพื้นที่เมืองเก่าสงขลาทั้งสงขลาเขาแดง/ซิงกอร่า/สิขร สงขลาแหลมสน และสงขลาบ่อยาง อันเป็นแหล่งเรียนรู้ภาคสนามอันทรงคุณค่า ปลอดภัยและใกล้มหาวิทยาลัย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานักศึกษา ตลอดจนทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยการสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการฯ (ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563) โดยใช้ศักยภาพของบุคลากรและนักศึกษาที่ศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์เมืองสงขลา บูรณาการความรู้ไปสู่การสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์กับผู้คน ชุมชน วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม ต่อยอดไปสู่ทุนทางวัฒนธรรม ฯลฯ

การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวของหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมปิดท้ายในวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2568 นักศึกษาหลักสูตรประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม ที่เข้าร่วมโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า จากการลงพื้นที่สำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ โบราณสถาน ป้อมหมายเลข 9 เมืองสงขลาเขาแดง/สิขร/ซิงกอร่า พระเจดีย์เขาน้อย และร่องรอยการขุดทำลายภูเขาน้อยใกล้กับฐานโบราณสถานพระเจดีย์เขาน้อย เมืองเก่าสงขลาเขาแดง/สิขร/ซิงกอร่า อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และนำประสบการณ์จากการเรียนการสอนทั้งในชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยและกิจกรรมที่หลักสูตรตลอดจนผู้สอนพาสัมผัสสถานที่จริง ผู้คน และสภาพแวดล้อมจริงมาอย่างต่อเนื่อง มาผลิตสื่อสารสนเทศตามความถนัดและความสนใจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ และผลการประกวดสร้างสรรค์สื่อสารสนเทศ อันเป็นผลจากการลงพื้นที่ภาคสนามเมืองเก่าสงขลาเขาแดง/สิขร/ซิงกอร่า รวมถึงเมืองเก่าสงขลาบ่อยาง โครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า นักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคมSKRU กวาดรางวัลร่วมกับกลุ่มที่ตนเองร่วมกิจกรรม ดังนี้

1. ทีม "ทุ่งลาเวนเดอร์" ได้รางวัลชนะเลิศ

ผลงาน "หัวเขาแดง: สัญลักษณ์แห่งสงขลาที่ต้องรักษา"

สมาชิก 3 คน : มีนักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ชั้นปีที่ 2 (นางสาวศศิพร พรมเส้ง) ร่วมด้วยนิสิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และนักศึกษาจากกลุ่ม Lost in Hatyai

2.  ทีม "History of songkhla"           ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

ผลงาน "เหตุการณ์บุกรุก เขาแดง เขาน้อย เมืองสงขลา"

สมาชิก 3 คน : มีนักศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ชั้นปีที่ 2 (นายอภิชัย นุ่นปาน) และชั้นปีที่ 1 (นายกรวิชญ์ ทาหาญ) และนักศึกษาจากกลุ่ม Lost in Hatyai          

3. ทีม "Walk in Singora" ได้ 2 รางวัล คือ 1.รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และ 2.รางวัลขวัญใจพี่หลวง (ผลงานโดดเด่นทรงคุณค่าจากมุมมองของวิทยากรกระบวนการ และบรรณาธิการสื่อออนไลน์ เพจ สื่อเถื่อน)

ผลงาน : "โบราณสถานเจดีย์เขาน้อยกับการบุกรุก"

สมาชิก 3 คน : มีนักศึกษาจากสาขาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ชั้นปีที่ 2 (นายรัชพล ทองหนู) และชั้นปีที่ 1 (นางสาวซอดาน๊ะ บินโซ๊ะ) ร่วมด้วยนิสิตสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา


นักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ที่เข้าร่วมโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า ซึ่งก่อนปิดโครงการได้มีมติตั้งชื่อรุ่นว่า "พี่หลวงพาลุย 2568" และคัดสรรสมาชิกเป็นกรรมการรุ่น #นักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคมSKRU ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานรุ่น คือ นางสาวนิรชา นกแก้ว และกรรมการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ คือ นายอดิศักดิ์ สมัครไทย

ความรู้สึกของนักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ทั้ง 10 คน ที่กล่าวถึงการเขาร่วมกิจกรรมนี้ 

นายกรวิชญ์ ทาหาญ สะท้อนความรู้สึกจากเบื้องลึกว่า "การเข้าร่วมกิจกรรมเป็นประสบการณ์ที่สนุกและมีคุณค่า เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พัฒนาตัวเอง สร้างมิตรภาพ และได้รับแรงบันดาลใจ นอกจากนี้ยังช่วยเปิดมุมมอง ทำให้ได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำ และเก็บเกี่ยวความทรงจำดี ๆ ที่มีความหมายในอนาคต"

 นางสาวซอดาน๊ะ บินโซ๊ะ พูดถึงอรรถประโยชน์ของการเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมฯ "ประโยชน์และความประทับใจจากการเข้าร่วมโครงการนี้คือการได้สานสัมพันธ์ เปิดประเด็นข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากรุ่นพี่ จากวิทยากร เเละอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน ได้รับความรู้ เเละเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น รู้สึกยินดีเเละมีความภูมิใจที่ได้เป็นตัวเเทนเข้าร่วมโครงการนี้เป็นอย่างมาก อีกด้านหนึ่งของประโยชน์ที่รับคือ ได้รับรู้ในเรื่องราวของสงขลาที่เกิดขึ้นเเละได้เป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักรู้เเละปรับวิธีการดำเนินการเพื่อเเก้ไขปัญหาและผลกระทบได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญคือ ทำให้เราไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตอลดจนร่วมอนุรักษ์เมืองสงขลาให้คงอยู่ต่อไป"

 นายอภิชัย นุ่นปาน ประทับใจจนกล่าวว่า "การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นความสนุกท้าทายและเป็นกันเองมากกว่าอาจารย์และนักศึกษา สนุกกว่าเข้าค่ายของมัธยมได้นำความรู้จากประสบการณ์และสถานที่จริงไปใช้ในชีวิตประจำวัน และสอนเรื่องนอกกรอบบ้างในบางครั้ง เพราะทุกอย่างมันได้อยู่แค่ในตัวหนังสือแต่การศึกษาอยู่ทุกที่บนโลกใบนี้อยู่ที่เราจะค้นหาความรู้ยังไง ประสบการณ์ครั้งนี้มีความสุขสนุกมีระเบียบกับตัวเองมากขึ้น"

 นางสาวปิญดา พลเยี่ยม กล่าวด้วยความตื่นเต้นและอิ่มเอมใจว่า "เนื่องจากเป็นการเข้าร่วมโครงการครั้งแรกของพวกเรา จึงทำให้มีความตื่นเต้นไม่น้อย แต่ก็สนุกสนานมาก เพราะการได้ร่วมทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ๆ นอกจากจะช่วยให้ได้รู้จักคนเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้จากเพื่อนต่างสถาบัน และคณาอาจารย์ วิทยากรที่มีความรู้ทุกท่าน ทำให้การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ได้ทั้งสาระความรู้ ความสนุก และได้เรียนรู้เกี่ยวกับสงขลาในด้านที่หลาย ๆ คนยังไม่รู้จัก ได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของโบราณสถานต่าง ๆ และได้รู้ถึงการตื่นรู้ และไม่เพิกเฉยต่อเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวเรา"

 นายอดิศักดิ์ สมัครไทย ยังคงติดตรึงกับความรู้สึกว่า "การเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งแรกนี้เต็มไปด้วยความตื่นเต้นและสนุกสนาน เราได้รู้จักเพื่อนใหม่จากหลากหลายสถาบัน พร้อมกับได้รับความรู้และประสบการณ์จากคณาจารย์และวิทยากร การเข้าร่วมครั้งนี้ไม่เพียงให้สาระและความสนุก แต่ยังเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับสงขลา ได้เรียนรู้คุณค่าของโบราณสถาน และตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งรอบตัวเรา"

 นางสาวศศิพร พรมเส้ง กล่าวด้วยความภาคภูมิใจระคนความรู้สึกอิ่มเอมใจ "รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจดีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ทำให้ได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับพื้นที่โบราณสถานสำคัญของจังหวัดสงขลาและมีความเข้าใจการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมมากขึ้น และที่สำคัญรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนสงขลาหันมาอนุรักษ์โบราณสถานบ้านตัวเองมากขึ้น เพราะสงขลาไม่ใช่แค่เมือง... แต่เป็นมรดกของเราทุกคน"

นางสาวอรอุมา สิงห์เปรม ชี้ให้เห็นความสำคัญที่ได้รับว่า "โครงการการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้น ที่คนอาจมองข้ามไปเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่เมื่อได้มาเข้าร่วมโครงการ ทำให้ดิฉันตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทของตัวเองได้มากขึ้น และไม่ว่าใครก็ควรที่จะรู้จักบทบาทและทำหน้าที่พลเมืองของตัวเองให้ดี"

นางสาวดุจเดือน ศักดี มองพลวัตของการขับเคลื่อนงานภาคประชาสังคม ที่มีผลต่อการดำเนินงานของบุคลากรภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาและทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ "มีความรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการครั้งนี้ได้เป็นกระบอกเสียงเล็กๆที่ทำให้คนสงขลารับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการถูกบุกรุกโบราณสถานเเละได้เห็นถึงกระบวนทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ"

นายรัชพล ทองหนู กล่าวถึงการมีเครือข่ายจากการร่วมกิจกรรมนี้ว่า "ประโยชน์ที่ผมได้รับมาอย่างเต็มที่ในโครงการครั้งนี้คือ การสร้างความสัมพันธ์เครือข่ายในระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างความร่วมมือ หารือกันในภาคการศึกษา/วิชาการและภาคประชาสังคม หวังว่าอาจจะมีโอกาสที่ดีแบบนี้ต่อไป"

นางสาวนิรชา นกแก้ว ถือว่าเปิดประสบการณ์นอกเหนือจากที่เรียนในชั้นเรียนและเคยลงภาคสนาม เป็นการตอกย้ำความสำคัญของการนำความรู้มาสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อประโยชน์สาธารณะ "การได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ได้ทั้งประสบการณ์ใหม่ที่มีทั้งความท้าทายสนุกสนาน รวมทั้งความรู้ใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยังได้ทำความรู้จักกับเพื่อนต่างสถาบัน พี่ ๆ วิทยากร อาจารย์จากหลายสถาบัน และวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมให้ความรู้แก่พวกเราทุกคน การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ยังสะท้อนให้ตระหนักถึงปัญหาการรุกรานพื้นที่โบราณสถาน ที่เป็นปัญหาอย่างยาวนาน รู้สึกยินดีที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนหันมาอนุรักษ์ และปกป้องแหล่งโบราณสถานที่สำคัญของเมืองสงขลาไว้"



ประโยชน์ที่นักศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา ได้รับ คือคุณค่าที่หาไม่ได้จากห้องเรียนปกติ การออกแสวงหาประสบการณ์และเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น โดยที่นักศึกษาระดมสรรพกำลังความรู้ที่สั่งสมจากการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ของหลักสูตรฯ ร่วมกับองค์ความรู้จากคณะวิทยากรที่หลากหลาย นำมาประยุกต์ใช้กับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย คือ ผลลัพธ์อันล้ำค่าที่นักศึกษาทั้ง 10 คน ของประวัติศาสตร์เพื่อการสื่อสารสังคม มรภ.สงขลา จะนำไปถ่ายทอดแก่รุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้อง ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนำเยาวชนเรียนรู้องค์ความรู้จากภาคประชาสังคมด้านวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า ผ่านกิจกรรมการจัดการความรู้ (KM: Knowledge Management) ที่หลักสูตรฯ จะดำเนินการหลังจากนี้ สมดังปรัชญาของหลักสตรที่ว่า "เรียนรู้อดีต เข้าใจปัจจุบัน รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมเพื่อการสื่อสารสังคม"