กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ส่งสัญญาณบวกชัดเจน เดือนธันวาคม 2567 มียอดจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น 9.18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตลอดปี 2567 จัดตั้งใหม่สูงสุดในประวัติศาสตร์ 87,596 ราย และมีธุรกิจทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 15 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 4.55 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ปี 2568 ธุรกิจจัดตั้งใหม่เพิ่ม 2-4% หรือประมาณ 9-9.5 หมื่นราย ขณะเดียวกัน ต่างชาติหอบเงินลงทุนเข้าไทยทั้งปี 2.28 แสนล้านบาท ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนอันดับ 1 ส่วนธุรกิจดาวเด่นปี ’68 ยกให้กลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ นวัตกรรม และจัดการธุรกิจ รวม 10 ธุรกิจ สุดท้าย กรมฯ ได้เปิดเผยแผนพัฒนาธุรกิจปี 2568 ด้วยการพัฒนาระบบบริการจดทะเบียน/ข้อมูลธุรกิจให้ครบทุกบริการ 100% การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีความพร้อมสู่ตลาดโลก และสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจให้เป็นธุรกิจสีขาว ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้ธุรกิจไทยเดินหน้าด้วยความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 27 ม.ค.68 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนธันวาคม 2567 และภาพรวมตลอดปี 2567 พบว่า เดือนธันวาคม 2567 มีธุรกิจจัดตั้งใหม่ 4,377 ราย เพิ่มขึ้น 368 ราย (9.18%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 (4,009 ราย) และทุนจดทะเบียน 22,895 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,281 ล้านบาท (46.63%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 (15,614 ล้านบาท) ในเดือนนี้มีนิติบุคคลที่จดทะเบียนทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท แอ็กซ์ตร้า โกรท พลัส จำกัด ทุนจดทะเบียน 8,390 ล้านบาท ประกอบกิจการโฮลดิ้ง ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 329 ราย ทุนจดทะเบียน 1,349 ล้านบาท 2) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 309 ราย ทุนจดทะเบียน 650 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง (ยกเว้นออนไลน์) จำนวน 226 ราย ทุนจดทะเบียน 108 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.52% 7.06% และ 5.16% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนธันวาคม 2567 ตามลำดับ
โดยการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั้งปี 2567 มีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2,296 ราย (2.69%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (85,300 ราย) ทุนจดทะเบียน 285,745 ล้านบาท ลดลง 276,724 ล้านบาท (49.20%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 (562,470 ล้านบาท) สำหรับธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 6,636 ราย ทุนจดทะเบียน 14,881ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 6,542 ราย ทุนจดทะเบียน 30,323 ล้านบาทและ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 4,025 ราย ทุนจดทะเบียน 8,120 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.58% 7.47% และ 4.59% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในปี 2567 ตามลำดับ ตลอดทั้งปี 2567 มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 15 ราย ทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 45,558 ล้านบาท เช่น ธุรกิจ Data Center, รับเหมาก่อสร้างอาคาร, ค้าส่งและค้าปลีก และโรงพยาบาล เป็นต้น
สำหรับการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนธันวาคม 2567 มีจำนวน 6,065 ราย เพิ่มขึ้น 543 ราย (9.83%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 (5,522 ราย) และมีทุนจดทะเบียนเลิก 35,102 ล้านบาท ลดลง 17,226 ล้านบาท (32.92%) เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 (52,328 ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการที่ทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 3 ราย คิดเป็นทุนจดทะเบียน 15,571 ล้านบาท สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 536 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 925 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 300 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 2,175 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 205 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 468 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.84% 4.94% และ 3.38% ของจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนธันวาคม 2567 ตามลำดับ
ส่วนการจดทะเบียนเลิกทั้งปี 2567 มีจำนวน 23,679 ราย เพิ่มขึ้น 299 ราย (1.28%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (23,380 ราย) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 171,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,124 ล้านบาท (6.95%) เมื่อเทียบกับปี 2566 (160,056 ล้านบาท) ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 2,146 ราย ทุนจดทะเบียน 4,761 ล้านบาท 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,238 ราย ทุนจดทะเบียน 16,885 ล้านบาท และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 805 ราย ทุนจดทะเบียน 1,994 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.06% 5.23% และ 3.40% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนปี 2567 ตามลำดับ
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกของนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท ในปี 2567 มีจำนวน 13 ราย ทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 85,839 ล้านบาท เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม, ขายสิทธิการเช่าห้องชุดพักอาศัย/ให้เช่าห้องชุดพักอาศัย, โรงงานผลิต ซื้อ และจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯ, และบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ เป็นต้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,964,829 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 30.56 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 928,290 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22.40 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 730,542 ราย หรือ 78.70% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 16.29 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 196,266 ราย หรือ 21.14% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 0.44 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,482 ราย หรือ 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียนรวม 5.67 ล้านล้านบาท
โดยภาพรวมของสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งและจดเลิกในปี 2567 ยังอยู่ในทิศทางที่ดี ส่งผลบวกมาจากปัจจัยการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในช่วง high season นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น สร้างการจ้างงานมากขึ้น สำหรับจำนวนธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปี 2567 (87,596 ราย) ถือเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่มีการเปิดให้บริการจดทะเบียน โดยกรมฯ ได้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ปี 2568 จะเพิ่มขึ้น 2-4% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 90,000-95,000 ราย ในขณะที่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการจัดตั้งธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวมโลก สงครามทางการค้าและผลที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายภายใต้ทรัมป์ 2.0 ที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ลงทุนและผู้เริ่มต้นธุรกิจได้
สำหรับการลงทุนของชาวต่างชาติ ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 954 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 227 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 727 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท โดยปี 2567 จ้างงานคนไทย 5,040 คน ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ / พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
2.สิงคโปร์ 137 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 22,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
3.จีน 123 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,547 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการทำเทคนิคด้านภาพสำหรับภาพยนตร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
4.สหรัฐอเมริกา 121 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 24,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
5.ฮ่องกง 69 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,281 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่า ปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 287 ราย (43%) มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 100,574 ล้านบาท (79%)
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน 301 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 167 ราย (124%) มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 56,490 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 17,877 ล้านบาท (46%) โดยเป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 103 ราย ลงทุน 20,593 ล้านบาท *จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท *ฮ่องกง 20 ราย ลงทุน 5,698 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (อุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
#กระทรวงพาณิชย์ #ธุรกิจตั้งใหม่ #ลงทุนไทย #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์