คุณชลธิชา อินธิราช หรือ “พี่นุช” วัย 50 ปี อดีตพนักงานบัญชีบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ ต้องมาเป็น “เกษตรกรเลี้ยงหมู” อาชีพที่พ่อโชติ กับแม่ลำยอง อินธิราช กรุยทางไว้ หลังจากที่พ่อต้องประสบปัญหาหนี้สินถึง 3 ล้านบาท จากงานรับเหมาก่อสร้าง ภายใต้ชื่อ “นพดลฟาร์ม” โดยได้รับคำแนะนำจากทีมงานของซีพีเอฟ และตัดสินใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนกับซีพีเอฟ ตั้งแต่ปี 2543 “นพดลฟาร์ม” ถือเป็นฟาร์มเลี้ยงหมูในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุนกับซีพีเอฟ แห่งแรกของตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และยังเป็นฟาร์มแรกของสกลนครที่สร้างโรงเรือนระบบปิดแบบอีแวป (EVAP) จากความตั้งใจของพ่อโชติ อดีตนายช่างใหญ่ที่อยากให้ฟาร์มนี้ทันสมัย ได้มาตรฐาน จึงลงมือเขียนแบบแปลนและควบคุมการก่อสร้างเองทั้งหมด ผนวกกับองค์ความรู้ที่ซีพีเอฟถ่ายทอด ทำให้ผลการเลี้ยงหมูของฟาร์มนี้ มีประสิทธิภาพที่ดี ทำให้มีรายได้สูงตามไปด้วย หลังจากเลี้ยงหมูได้ 1 ปี คุณชลธิชา จึงกลับมาสานต่อกิจการของพ่อ โดยเล่าว่า ปีแรกร้องไห้ทุกวัน เพราะพ่อสอนให้เรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่การเลี้ยงหมู ซ่อมโรงเรือน จนถึงวางระบบไฟฟ้า การบ่มเพาะประสบการณ์มาตลอด 17 ปี ทำให้ “นพดลฟาร์ม” สามารถขยายการเลี้ยงรวม 3 โรงเรือน ความจุหมูขุนทั้งหมด 1,560 ตัว “เคล็ดลับความสำเร็จในครั้งนี้ คือ ความซื่อสัตย์ และความมั่นคงในจิตใจ ที่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของคำว่า ทำไม่ได้ ด้วยการทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด ที่สำคัญคือต้องมีความกตัญญู เคยมีคู่แข่งของซีพีมาซื้อตัวชวนไปอยู่ด้วยถึง 3 ครั้ง แต่ไม่เคยเปลี่ยนใจพี่ได้ ที่มีทุกวันนี้ได้ก็เพราะบริษัทเขาสร้างเรามา ตอนเราลำบากเขาไม่เคยทิ้งเรา แล้วจะให้เราทิ้งบริษัทได้อย่างไร” คุณชลธิชา ยังถือเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูให้มีประสิทธิภาพ แก่เพื่อนเกษตรกรฟาร์มใหม่ของสาขาสกลนคร รวมถึงมีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ที่สำคัญ “นพดลฟาร์ม” แห่งนี้ ยังเป็นกรีนฟาร์ม “เลี้ยงหมูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยติดตั้งระบบไบโอแก๊ส เพื่อป้องกันกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน และปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรอบๆ สำหรับรดพืชไร่ พืชสวน และนาข้าว ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้เป็นอย่างดี “วันนี้ภูมิใจที่สุดที่สามารถปลดหนี้ ทั้งหนี้เก่าของพ่อ กับหนี้ใหม่จากเงินที่กู้มาลงทุนขยายฟาร์มรวมกันกว่า 5 ล้านบาท ภายใน 10 ปี จากมนุษย์เงินเดือนได้เงินเดือนละ 12,000 บาท ทุกวันนี้ได้จับเงินปีละล้านก็เพราะอาชีพเลี้ยงหมู และฟาร์มยังสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนและมีความสุข” คุณชลธิชา บอกด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสุข นอกจากนี้ คุณชลธิชา ยังมีอีกหนึ่งความสุข คือ สุขที่ได้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า สุขที่ได้เห็นลูกซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 มารับช่วงกิจการที่มั่นคง สุขที่ได้อยู่บ้านและฟาร์มที่รัก และเป้าหมายที่จะเกษียณอย่างมีความสุขใน 10 ปีข้างหน้านั้น ก็เป็นไปได้อย่างแน่นอน