ต้องรอมานานเกือบ 20 ปี ในการทวงความยุติธรรมกลับคืนมาในคดี "สตรีแห่งขุนเขา" หรือ "THE LADY OF THE HILL" หญิงสาวนิรนามชาวไทย หลังจากไปเสียชีวิตบนภูเขา ยังดินแดนห่างไกลถึงประเทศอังกฤษ ก่อนจะมีการสืบสวนจนทราบว่าศพหญิงสาวรายนี้ คือ "ลำดวน สีกันยา" 

เหตุการณ์เศร้าสลดนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ในช่วงเช้าที่อากาศเย็นมาก นักเดินป่าจากหมู่บ้านฮอร์ตัน ในเมืองริบเบิลส์เดล จำนวน 5 คน ได้เดินทางไปเที่ยวชมที่ อุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์ เดลส์ ทางตอนเหนือของอังกฤษ 

ระหว่างที่เดินทางมาถึงลำธารบริเวณถ้ำ "เซลล์ กิลล์ โฮลส์" นักเดินทางทั้งหมดต้องตกใจสุดขีด เมื่อมาเจอศพหญิงสาวชาวเอเชีย ในสภาพนอนคว่ำ ไม่สวมเสื้อ ใส่เพียงกางเกงยีนส์ สวมแหวนทองคำที่เชื่อว่าเป็นแหวนแต่งงาน และถุงเท้าคู่หนึ่งเท่านั้น ขณะที่พบเสื้อของเธอตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ไม่เจอรองเท้า

จากการตรวจสอบสภาพศพในที่เกิดเหตุ ทราบว่าศพหญิงนิรนาม ที่มีความสูง 149 เซนติเมตร น้ำหนัก 63 กิโลกรัม และคาดว่าน่าจะมีอายุ 25-35 ปี  สวมแหวนแต่งงานที่มาจากกรุงเทพมหานคร แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังมืดแปดด้าน ไม่รู้ว่าร่างที่ไร้วิญญานของสาวนิรนามรายนี้เป็นใครกันแน่

หลังเกิดเหตุ คนในท้องถิ่น ได้สงสารสาวชาวเอเชียรายนี้ ที่ต้องมาเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จึงร่วมกันทำหลุมศพให้เธอ พร้อมระบุบนป้ายฝังศพไว้ในชื่อ "สตรีแห่งขุนเขา" หรือ THE LADY OF THE HILL

กระทั่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี "กรมสอบสวนคดีพิเศษ" หรือ "ดีเอสไอ" ได้รับการประสาน เพื่อตรวจอัตลักษณ์บุคคล และเมื่อส่งผลกลับไปที่อังกฤษ ก็ได้รับการยืนยันว่าศพ "สตรีแห่งขุนเขา" คือ "ลำดวน สีกันยา" หรือ ลำดวน อาร์มิเทจ ซึ่งเป็นภรรยาของ "นาย เดวิด อาร์มิเทจ" ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษด้วยกัน

เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวงแห่งเมืองยอร์กเชียร์ ทราบว่า "สตรีแห่งขุนเขา" และรู้ว่า "เดวิด อาร์มิเทจ"" สามีของเธอ คือ "ผู้ต้องสงสัย" จึงได้ตรวจสอบประวัติจนทราบว่า นายเดวิด ได้ย้ายกลับมาอาศัยที่ประเทศไทยแล้ว โดยทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี 

จากนั้นได้มีการประสานมายัง "บก.สส.สตม." ประเทศไทย จากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NCA) กรณี นายเดวิด ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีหญิงไทยเสียชีวิตอย่างปริศนาที่สหราชอาณาจักร ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า นายเดวิด ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจ สตม. จึงได้ทำการติดตามตัวจนทราบว่า พักอาศัยอยู่ที่บ้านพัก ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี และบุกไปจับกุม

ทั้งนี้ นายเดวิด เป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ ตามมาตรา 12(7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมีคำสั่งอนุมัติเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผลให้นายเดวิดจะถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ เพื่อรอการส่งกลับประเทศภูมิลำเนา ซึ่งนายเดวิดสามารถใช้สิทธิเพื่ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมือง ภายใน 48 ชม. 

อย่างไรก็ตาม ทาง สตม. จะดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ รวมถึงการดำเนินการต่างๆ จะให้ความสำคัญต่อข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลเป็นลำดับแรก

สำหรับ "ลำดวน สีกันยา"  เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2511 ที่บ้านโพน ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี พ่อแม่มีอาชีพทำนา ฐานะยากจน เธอเป็นลูกสาวคนที่ 6 ของครอบครัว  เมื่อโตเป็นสาว ลำดวนแต่งงานกับหนุ่มต่างหมู่บ้านและมีลูกชายด้วยกัน 1 คนชื่อ “ขวัญ” แต่ต่อมาทั้งคู่แยกทางกัน ลำดวนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ

ในปี 2533 ลำดวนในวัย 22 ปี พบรักกับ “เดวิด อาร์มิเทจ” (David Armitage) หนุ่มอังกฤษวัย 27 ที่มาเป็นครูสอนภาษาในกรุงเทพฯ รู้จักกันได้ราวครึ่งปีทั้งคู่ก็ตัดสินใจแต่งงานกัน โดยจัดพิธีแต่งแบบอีสาน และจดทะเบียนสมรสกันที่สถานทูตอังกฤษ ก่อนย้ายไปอยู่อังกฤษในปี 2534 โดยพาขวัญไปด้วย

ตอนแรกสองสามีภรรยาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่เมืองพอร์ตส์มัธ (Portsmouth) โดยเดวิดเป็นครู ส่วนลำดวนทำงานในร้านอาหารไทย ทั้งคู่ช่วยกันเก็บเงินจนสามารถซื้อบ้านแฝด 3 ห้องนอนได้ในปี 2537

ในปี 2535 ลำดวนให้กำเนิดลูกชายชื่อ “จอร์จ” (George) และในปี 2542 ให้กำเนิดลูกสาวชื่อ “ชาร์ลีน่า” (Charlena) ทั้งคู่พาลูก ๆ กลับไปเยี่ยมตายายที่ไทยเป็นประจำทุกปี

ต่อมาลำดวนแท้งลูกหลายครั้งจนสุขภาพไม่แข็งแรง ต้องลาออกจากงาน ทำให้เดวิดต้องหาเลี้ยงครอบครัวอยู่คนเดียว พวกเขาตกที่นั่งลำบาก ต้องขายบ้านแล้วไปเช่าบ้านอยู่ และสุดท้ายต้องย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ของเดวิดที่มณฑลคัมเบรีย (Cumbria)

กระทั่ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินป่าในอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์เดลส์* (Yorkshire Dales) ประเทศอังกฤษ พบศพผู้หญิงนอนขดตัวอยู่หลังโขดหินในลำธาร ซึ่งเป็นจุดลับตาคน

เรื่องของ “สตรีแห่งขุนเขา” กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก ตำรวจอังกฤษทั้งวาดภาพสเก็ตช์ ทั้งเปิดกลุ่มเฟซบุ๊กตามหา แปลคำประกาศเป็นหลายภาษา ทั้งไทย เกาหลี ตากาล็อก แต่ก็ไม่พบเบาะแส ประกอบกับเวลานั้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก ทำให้ตัวตนของเธอยังคงเป็นปริศนา


#สตรีแห่งขุนเขา #ลำดวน #ลำดวนสีกันยา