ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD พร้อมด้วยผู้บริหารธนาคารออมสินและคณะ นำทีมลงพื้นที่ เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อร่วมกิจกรรม SOFT OPENNING “มุมความรู้ลิบง” ภายใต้โครงการ พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เกาะลิบง
ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก OKMD และธนาคารออมสินซึ่งเป็นหนึ่งภาคีเครือข่ายความรู้ด้านการเงินการลงทุน สำหรับเด็กและเยาวชน และได้ร่วมกันดำเนินโครงการคาราวานความรู้ตลาดทุนรุกสู่ภูมิภาค และบ่มเพาะต้นแบบ คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดทุน (Fin Lab) โดยมีกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เป็นผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งได้ดำเนินการมาตลอดปี 2567 และประสบความสำเร็จโดยมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมทะลุเป้าที่ตั้งไว้ และได้ปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของธนาคารออมสินนั้น ได้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ บนพื้นที่เกาะลิบง ในฐานะสถาบันการเงินเพื่อการออมของประเทศ และเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่เป็นผู้นำด้านการส่งเสริม การออมและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนนั้น สอดรับกับภารกิจของ OKMD ในการจัดระบบการเรียนรู้สาธารณะและการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ภูมิปัญญาของประชาชนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัย และพัฒนาขยายผลแหล่งบริการองค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่ทันสมัย มีชีวิตชีวาและอุดมด้วยความรู้ที่สร้างสรรค์สอดประสานกันอย่างลงตัว
“OKMD จึงผนึกกำลังกับธนาคารออมสินร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) เพื่อจัดให้มีพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชนที่มีคุณภาพ ให้บริการองค์ความรู้แก่คนในชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตให้กับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความต้องการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ และค้นหาพันธมิตรในการร่วมดำเนินงาน ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเกาะลิบง สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษานอกระบบที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ บริการความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่ด้วย” ดร.ทวารัฐ กล่าว
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่มีความต้องการด้านการศึกษาและการเรียนรู้ ตลอดจนค้นหาพันธมิตร ในการร่วมดำเนินงาน ว่า เราได้คัดเลือก ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเกาะลิบง สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษานอกระบบที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ บริการความรู้ และส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัยในพื้นที่ ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้เกาะลิบง มีแนวทางในการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพื้นที่กายภาพ โดยการ ปรับปรุงพื้นที่การเรียนรู้ ในรูปแบบ “มุมความรู้ลิบง” เพื่อให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชน สร้างบรรยากาศเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ 2) ด้านองค์ความรู้ โดยการสนับสนุนอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ภายในมุมความรู้ ให้มีเนื้อหาความรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ หนังสือ บอร์ดเกม สื่อมัลติมีเดียต่างๆ 3) ด้านบริการ โดยการ ถ่ายทอดความรู้ด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเหมาะสม สนับสนุนองค์ความรู้และ จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ Creative Workshop สำรับเด็ก เยาวชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือผู้ประกอบการ
“เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงาน ดังนี้ 1.เพื่อพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ของชุมชน ในรูปแบบ “มุมความรู้ ลิบง” 2.เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้สำคัญในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ เช่น ความรู้ด้านการเงินการลงทุน ความรู้ด้านอาชีพหรือทักษะจำเป็นในศรวรรษที่ 21 และ 3.เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันจะเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับการบริการความรู้ที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ และสามารถนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาการเรียนการศึกษา การประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ รวมถึงส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ดร.ทวารัฐ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายวัชรพันธ์ สมพงศ์ ผู้อำนวยเขต ธนาคารออมสินเขตตรัง กล่าวว่า ในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเกาะลิบง ธนาคารออมสินให้การสนับสนุนในการพัฒนาพื้นที่ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่การปรับปรุงพื้นที่พร้อมใช้งานและการสนับสนุนคอมพิวเตอร์เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีและการเรียนรู้ผ่านการเข้าถึงองค์ความรู้ที่น่าสนใจผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและการใช้งาน อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและทักษะของคนทุกช่วงวัยสำหรับการพัฒนาทักษะ การสร้างรายได้ และการพัฒนาอาชีพอันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และสังคมได้ในอนาคต
สำหรับกิจกรรมที่ทำในครั้งนี้ อาทิ “CPR การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน ด้วย Game-based Learning จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การถ่ายภาพและการตลาดออนไลน์ กิจกรรม “เพื่อนสอนเพื่อน” เพื่อให้เข้าใจและมีแนวทางในการตั้งเป้าหมายชีวิต และเป้าหมายทางการเงินของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย ตระหนักถึงความสำคัญวิธีสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนในการออม และ “กิจกรรมพี่สอนน้อง” โดยคณะนักเรียนชมรม “BudgetBuddy” จาก NIST International school ในเรื่อง Financial Literacy ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และการสื่อสารภาษาต่างประเทศ ในยุคการสื่อสารไร้พรหมแดน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงพลังของเครือข่าย และศักยภาพของเด็ก เยาวชน ตลอดจนชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่สามารถพัฒนาได้ หากได้รับโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม สอดรับกับเป้าหมายหลักของโครงการนี้ที่ต้องการการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ เสริมทักษะการเงิน การอาชีพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนบนเกาะลิบงให้ดีขึ้น