กรุงเทพฯ ยังอ่วม! ฝุ่น PM2.5 ยังเกินมาตรฐาน 66 พื้นที่ พบสีแดง 4 พื้นที่ ภท. จี้ รัฐบาล แก้ฝุ่น PM2.5 ทั้งประเทศ ไม่เฉพาะกทม.ชี้ ข้องใจใช้งบ 140 ล้านจ่ายเอกชน ส่วน กรมราง เปิดตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าฟรี ลดฝุ่น PM2.5 วันแรก 1.63 ล้านคน เพิ่มขึ้น 45.29% สายสีทองพีคสุด เพิ่มขึ้น 141% คาด 27 ม.ค. วันทำงานวันแรกของสัปดาห์ คาดประชาชนใช้บริการเพียบ รัฐบาลขอความร่วมมือ ลดใช้ธูป รัฐบาลแนะนำทางเลือกปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคม ลดฝุ่น PM 2.5 - ป้องกันอัคคีภัย
       
        
 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.68 ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สรุปผลการตรวจวัด PM2.5 ประจำวันที่ 26 มกราคม 2568 เวลา 05.00-07.00 น. ตรวจวัดได้ 45.4-88.5 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 58.5 มคก./ลบ.ม. มีแนวโน้มลดลง แต่ยังเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 7 พื้นที่ และอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 63 พื้นที่
        
 จากนั้นเวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ในช่วง 45.4-82.2 มคก./ลบ.ม. (มีแนวโน้มลดลง) แต่ยังเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 4 พื้นที่ ส่วนพื้นที่ที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีจำนวน 66 พื้นที่
        
 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีมาตรการส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าทุกสายทางฟรี ระหว่างวันที่ 25-31 ม.ค. 68 รวม 7 วัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากยานพาหนะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้พบว่า มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 1,634,446 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 45.29% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์ในสามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68 (ค่าเฉลี่ยฯ) ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังนี้
        
 1. รถไฟฟ้า Airport Rail Link มีผู้ใช้บริการ 68,903 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 14,049 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 25.61%) 2. รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) มีผู้ใช้บริการ 35,705 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 8,951 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 33.46%) 3. รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) มีผู้ใช้บริการ 451,251 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 124,247 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 38%) 4. รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) มีผู้ใช้บริการ 59,160 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 13,361 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 29.17%) 5. รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิท และสายสีลม) มีผู้ใช้บริการ 857,878 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 270,591 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 46.07%)
        
 6. รถไฟฟ้าสายสีทอง มีผู้ใช้บริการ 18,691 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 10,966 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 141.95%) 7. รถไฟฟ้าสายนัคราพิพัฒน์ (สีเหลือง) มีผู้ใช้บริการ 63,796 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 30,687 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 92.68%) และ 8. รถไฟฟ้าสายสีชมพู มีผู้ใช้บริการ 79,062 คน-เที่ยว (มากกว่าค่าเฉลี่ยฯ 36,619 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 86.28%) อย่างไรก็ตาม หากเรียงลำดับ พบว่า มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มมากขึ้น 2.42 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยสามเสาร์ที่ผ่านมา รองลงมาคือ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เพิ่มขึ้น 92.68% และ 86.28% ตามลำดับ โดยทั้งสามสายทางเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (feeder) ที่มีเส้นทางผ่านที่อยู่อาศัยของประชาชน และเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลัก
        
 นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มอีกว่า สำหรับรถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้บริการรวม 215 ขบวน มีผู้ใช้บริการ 75,303 คน-เที่ยว ประกอบด้วย ผู้โดยสารขบวนรถเชิงพาณิชย์ 31,850 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 43,453 คน-เที่ยว ลดลงจำนวน 3,116 คน-เที่ยว หรือลดลง 3.97% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68 ทั้งนี้ภาพรวมวันที่ 25 ม.ค. 68 มีผู้ใช้บริการระบบรางรวม 1,709,749 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 506,355 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 42.08% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันเสาร์สามสัปดาห์ของเดือน ม.ค. 68
        
 นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประชาชน แห่ใช้บริการรถโดยสารขชอง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการใช้บริการรถไฟฟ้า หลังรัฐบาลเปิดให้ใช้บริการฟรี 7 วัน 
        
 วันเดียวกัน นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์เฟสบุคส์เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้กับจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร ระบุว่า รถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี แก้ปัญหา PM 2.5 ได้หรือไม่ แต่ต้องขอบคุณความพยายามของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ปัญหา PM2.5 ในกทม. ด้วยการออกมาตรการรถเมล์ รถไฟฟ้า ฟรี 7 วัน ถามว่าดีไหม ก็ต้องบอกว่าดี เพราะช่วยประชาชนใน กทม.เดินทางได้ฟรี แต่ถามว่ามันแก้ปัญหา PM 2.5 ได้จริงหรือ นโยบายนี้จะสำเร็จต่อเมื่อคนที่มีรถยนต์ส่วนตัว จอดรถอยู่บ้านและมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ซึ่งถามว่ามันจะเกิดขึ้นไหม รถยนต์บนท้องถนนจะลดลงจริงหรือเปล่า? ผมว่ายากยิ่งไปกว่านั้นตอนแรกเห็นข่าวก็นึกว่ารัฐบาลจะใช้วิธี ขอความร่วมมือ เอกชนให้ประชาชนได้ใช้บริการฟรี ที่ไหนได้ กลายเป็นใช้งบกลางจำนวน 140 ล้านบาทหรือวันละ 20 ล้านบาท อย่าลืมว่างบประมาณนี้คือภาษีของคนไทยทั้งประเทศ
        
 ในขณะที่หลายหน่วยงาน โรงเรียน บริษัท กำลังจะประกาศให้ WFH ลดการเดินทาง ลดการออกจากบ้าน จำนวนผู้โดยสาร รถเมล์ รถไฟฟ้า ก็จะลดลงแต่รัฐบาลกำลังจะจ่ายให้เอกชนมีรายได้เท่าเดิม? การเอาภาษีจากคนไทยทั้งประเทศมาแก้ปัญหาใน กทม.ผู้ที่ได้ประโยชน์คือประชาชนหรือเอกชนกันแน่? ผมไม่ได้บอกว่าการใช้งบกลางมาแก้ปัญหาใน กทม.นั้นไม่ดี แต่อย่าลืมว่ามีอีกหลายจังหวัดที่มีปัญหาPM 2.5 ไม่น้อยกว่า กทม.เช่นกัน จังหวัดอ่างทองบ้านผมติดอันดับ 1-5 ของประเทศมาหลายวัน อยุธยา,นครปฐม,สมุทรสาคร,ลพบุรี,สระบุรี,อุดร,ขอนแก่น,สระแก้ว,ชลบุรี,สุโขทัย,เชียงใหม่ ฯลฯ จังหวัดเหล่านี้ก็มีปัญหาไม่ได้น้อยไปกว่าเมืองหลวง คนต่างจังหวัดเหล่านี้รัฐบาลจะช่วยเหลือไม่ต่างจาก กทม.ใช่หรือไม่? อ่างทองบ้านผมปัญหาเกิดจากการเผา อยากเห็นมาตรการที่ให้การสนับสนุนผ่านทางจังหวัด จะได้มีงบประมาณฉุกเฉิน เร่งด่วน ไปช่วยเหลือชาวบ้าน นอกจากการจับกุม ลงโทษ ถ้ามีมาตรการสนับสนุน ผมเชื่อว่าชาวบ้านยินดีให้ความร่วมมือ ต้องขอบคุณในความพยายามแก้ปัญหา PM 2.5 ในกทม.ของท่านรัฐมนตรี อย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย" แต่อย่าลืมช่วยเหลือในภาพใหญ่เพราะ #ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพมหานคร
        
 ด้าน นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานหลายพื้นที่ขณะนี้ โดยตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจุดธูป จุดพลุ ประทัด และการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาฝุ่นค่า PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้นในวงกว้าง และเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในช่วงฤดูหนาว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีบ้านเรือนหนาแน่น สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ได้ปิดทำการในช่วงเทศกาล อาจทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
      
   ทั้งนี้ มาตรการควบคุมฝุ่น PM 2.5 และการป้องกันอันตรายในช่วงเทศกาลตรุษจีน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ช่วยงด หรือลดการเผากระดาษเงินกระดาษทอง ใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทนการจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์  พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยทางกายภาพ อาทิ อุปกรณ์ หรือระบบป้องกันอัคคีภัย สัญญาณเตือนภัย และถังดับเพลิง ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน  ศึกษาคำแนะนำเรื่องการใช้งานและจำนวนถังดับเพลิงที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับพื้นที่ หากพบเห็นการเกิดเพลิงไหม้ ให้แจ้งสายด่วน 191 หรือแจ้งสายด่วนศูนย์วิทยุพระราม โทร. 199 ทันที
       
  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีน สามารถเป็นแนวทางในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และป้องกันอัคคีภัย โดยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ธูปไร้ควัน หรือการไหว้บูชาแบบออนไลน์ หากจำเป็นต้องจุดธูป ควรทำด้วยความระมัดระวัง ใช้ภาชนะทนไฟรองรับ เผาในเตาเผาที่มีคุณภาพ หรือพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดควันฝุ่นจำนวนมากให้เกิดการรับผิดชอบต่อสังคม และมีผู้ดูแลตรวจสอบให้แน่ใจว่าไฟดับสนิทหลังการเผาด้วย นายอนุกูล กล่าวย้ำ