วรวัจน์ ส.ส. เพื่อไทยแพร่ ชูนโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส หนุนเลือกนายก อบจ.แพร่ พร้อม ต่อยอดเทคนิคการปลูกผลไม้คุณภาพสูงสู่เกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดแพร่ว่า สำหรับสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดแพร่ คณะกรรมการเลือกตั้งจังหวัดแพร่ เตรียมความพร้อมแล้วทุกหน่วยเลือกตั้งรวมถึงบุคลากรประจำหน่วยเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัครในแต่ละเขตต่างลงพื้นที่หาเสียงช่วงใกล้โค้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ 

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ พรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยถึงการหาเสียงของผู้สมัคร ในช่วงโค้งสุดท้าย ว่า ในการหาเสียงของผู้สมัคร นายกฯ อบจ.แพร่ และ ส.อบจ. แพร่ ของพรรคเพื่อไทย มีนโยบาย ที่สำคัญและต่อยอดในพื้นที่ได้ คือ นโยบายเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรซึ่งต่อยอดมาจากนโยบาย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะผลไม้ที่มีคุณภาพสูง อาทิ เทคนิคการปลูกผลไม้คุณภาพสูง ทุเรียน ส้มโอ ส้มเขียวหวาน พุทรา มะยงชิด ซึ่งเป็นแนวคิดในรูปแบบนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีคนทำในรูปแบบนี้มาก่อน การปลูกผลไม้ ไม่ยากอย่างที่คิด หากเรียนรู้จังหวะการให้ปุ๋ย N-P-K ตามอายุ ความต้องการของผลไม้แต่ละระยะ การให้ธาตุอาหารรองแคลเซี่ยม แมกนีเซี่ยม สังกะสี เทคนิคการทำนายการระบาดของโรคและแมลง ในแต่ละระยะของผลไม้ เท่านี้ ก็พัฒนาเพิ่มคุณภาพของผลไม้ เพิ่มราคา เพิ่มรายได้ ได้แล้ว  ทั้งนี้ ตารางผลไม้นี้ เป็นการประมวลเทคนิคสำคัญ ใช้ได้กับผลไม้เกือบทุกชนิด ซึ่งต้องขอขอบคุณ รศ.ดร.อำไพวรรณ ภราดร์นุวัฒน์ ที่ช่วยรวบรวมองค์ความรู้ จนครบทุกด้านและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จากนี้เราจะส่งต่อ ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์นี้ให้กับพี่น้องประชาชนชาวแพร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหาเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ที่ผ่านมาในช่วงเช้า ผู้สมัครจะลงพื้นที่ตลาดเช้าในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โดยส่วนใหญ่ประชาชนในช่วงเช้าวิถีชีวิตคือการจ่ายตลาดเช้า เพื่อหาซื้ออาหารมาให้ครอบครัว การหาเสียงในช่วงเช้า จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดขณะที่การต่อยอดนโยบายส่งเสริมการเพิ่มผลิตทางการเกษตรในรูปแบบนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ไปสู่เกษตรกร ที่ทำสวนผลไม้เป็นทุนเดิม เมื่อต่อยอดความรู้ไปสู่กลุ่มเกสรกรในทุกพื้นที่ เกษตรกรนำความรู้ไปปรับใช้จากเดิมที่ทำตามฤดูกาลและ ความรู้ที่สืบทอดกันมา เมื่อได้องค์ความรู้ใหม่ นำไปปรับใช้ นอกจากจะสามารถเพิ่มผลผลิตให้กับไม้ผลที่นำไปจำหน่ายในแต่ละปีแล้ว องค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมที่ได้รับ ยังสามารถเพิ่มรอบการผลิตได้ ไม่ใช่เพียงปีละครั้ง ไมผลบางชนิดสามารถให้ผลผลิตนอกฤดูกาลและเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกและส่งออกผลไม้อีกด้วย