วันที่ 24 ม.ค. 68 เวลา 17.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 62 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เตรียมรับมืออุณหภูมิลดลง ส่วน 3 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ให้เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26 - 28 ม.ค. 68 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่อุณหภูมิลดลง ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ให้แจ้งเตือนประชาชนนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนการเดินเรือ และเดินเรือด้วยความระมัดระวัง รวมถึงเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ภัย พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (22/2568) ลงวันที่ 24 มกราคม 2568 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 26 - 28 มกราคม 2568 บริเวณความ กดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้อุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 3 - 5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิจะลดลง 2 - 4 องศาเซลเซียส ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26 - 28 มกราคม 2568 ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุณหภูมิลดลงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ภาคใต้ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา (อำเภอเมืองสงขลา อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา) จังหวัดปัตตานี (อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอหนองจิก อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น) และจังหวัดนราธิวาส (อำเภอเมืองนราธิวาส และอำเภอตากใบ) 

ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 62 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุณหภูมิลดลง โดยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่อุณหภูมิลดลง เพื่อป้องกันการเกิดอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณณ์คลื่นลมแรง ได้กำชับให้ 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 สงขลา ให้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลและนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำโดยเด็ดขาด พร้อมให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ ให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวัง หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้พิจารณาห้ามเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด 

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์โดยปฏิบัติตามคำแนะนำจากทางราชการอย่างเคร่งครัด

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ในระยะนี้ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน "THA DISASTER ALERT" และหากมีความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ "ปภ.รับแจ้งเหตุ1784" โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป