"SCB EIC" ชี้ส่งออก ธ.ค.แรงยังดี หวั่นสงครามการค้ากระทบครึ่งหลังปี 2025
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ธ.ค. 2024 อยู่ที่ 24,765.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.7%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน) เร่งขึ้นจาก 8.2% ในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าคาดการณ์ (SCB EIC ประเมินไว้ 7.1% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์ 8.1%) หากไม่รวมทองคำจะขยายตัวใกล้เคียงเดิมที่ 8.7%
ภาพรวมส่งออกไทยเดือน ธ.ค. ดีต่อเนื่อง โดยทรงตัวจากเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล (0%MOM_SA) ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก (1) การเร่งส่งออกจากความกังวลด้านมาตรการกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ และคู่ค้า โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ เครื่องจักร และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ (สินค้าสามกลุ่มนี้มีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้นมากถึง 5%) (2) อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ และ (3) การส่งออกทองคำยังขยายตัวสูง 7.2% แม้ชะลอลงมาก (ทองคำมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกเดือนนี้เพิ่มขึ้น 0.5%) ผลจากราคาทองคำอยู่ในระดับสูงและความต้องการสะสมทองคำเพื่อรองรับจากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น
ส่งออกเดือน ธ.ค. โตดีเกือบทุกหมวด ยกเว้นแร่และเชื้อเพลิงที่ยังคงหดตัวมาก
หากพิจารณารายหมวด พบว่า (1) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 9 เดือนที่ 11.1% สูงกว่าเดือนก่อนที่ 9.5% โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับหักทอง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง และทองคำยังไม่ขึ้นรูป ขณะที่เหล็ก เครื่องยนต์สันดาป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอดเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (2) สินค้าเกษตรขยายตัว 10.7% เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ 4.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขณะที่ข้าวเป็นสินค้าหลักที่หดตัว (3) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวชะลอลงเล็กน้อย 6.7% จาก 7.7% ในเดือนก่อน โดยอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่มยังขยายตัวดี ขณะที่ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และน้ำตาลทรายเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวแรง -32.0% จาก -7.1% ในเดือนก่อน ตามการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวถึง -33.7% เทียบ -16.3% ในเดือนก่อน
การส่งออกขยายตัวสูงในหลายตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ยุโรป และอินเดีย
หากพิจารณารายตลาดหลัก พบว่า (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 17.5% สูงกว่าเดือนก่อนที่ 9.5% เกือบเท่าตัว โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกลที่ขยายตัวมากถึง 160.4%, 92.3%, 63.7% และ 55.5% ตามลำดับ (2) ตลาดยุโรป ขยายตัวต่อเนื่อง 22% เทียบ 12% ในเดือนก่อน โดยจำนวนสินค้าส่งออกสำคัญขยายตัวสูงถึง 11 ใน 15 รายการ โดยเฉพาะเครื่องจักรกลและส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 177.5% เทียบกับ 14.2% ในเดือนก่อน (3) ตลาดญี่ปุ่น พลิกกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 0.6% จาก -3.7% ในเดือนก่อน โดยจำนวนสินค้าส่งออกสำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11 ใน 15 รายการ เทียบกับ 5 รายการในเดือนก่อน (4) ตลาดจีน โตชะลอลงเล็กน้อยที่ 15% จาก 16.9% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งชะลอตัวลงมากเป็น 1.8% จาก 47.6% ในเดือนก่อนหน้า การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบชะลอตัวลงเกือบครึ่งที่ 78.8% จาก 126.8% ในเดือนก่อน (5) ตลาดฮ่องกง หดตัวแรงเป็น -23.3% จาก -9.9% ในเดือนก่อน โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้ากลุ่มสำคัญที่หดตัว และ (6) ตลาด CLMV ขยายตัว 20.7% ใกล้เคียงเดือนก่อน การส่งออกบางรายการเช่นน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวมากขึ้น -10.3% จาก -0.7% ในเดือนก่อน การส่งออกไปยังกัมพูชา เมียนมาและเวียดนาม ยังคงขยายตัว 55.3%, 47.5% และ 5.8% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไป สปป. ลาว กลับมาหดตัว -3.1%
การส่งออกไทยทั้งปี 2024 โตดีกว่าคาดอยู่ที่ 5.4% โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง
ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2024 อยู่ที่ 300,529.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 5.4% ปรับดีขึ้นมากจากที่เคยหดตัว -0.8% ในปี 2023 (ตัวเลขระบบศุลกากร) โดยในช่วงไตรมาสแรกมูลค่าการส่งออกหดตัวเล็กน้อย -0.3% แต่พลิกกลับมาขยายตัว 4.3% ในไตรมาสที่ 2 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของประเทศสำคัญทั่วโลก ระดับน้ำในคลองปานามากลับมาเป็นปกติส่งผลให้การขนส่งสินค้าดำเนินการได้ปกติขึ้น และราคาสินค้าส่งออกที่ดีในหลายกลุ่มสินค้า เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ เช่น ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปีมูลค่าการส่งออกขยายตัว 1.9% ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีขยายตัวดีมากที่ 9% (7.5% และ 10.5%ในไตรมาสที่ 3 และ 4 ตามลำดับ) จากการส่งออกทองคำสูงขึ้นมาก อานิสงส์วัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปสงค์ต่างประเทศเริ่มเร่งตัวจากความกังวลประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มในปี 2025 ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในไตรมาสสุดท้าย
ช่วงตลอดปี 2024 การส่งออกไทยได้แรงขับเคลื่อนจากสินค้าทุกหมวด ยกเว้นแร่และเชื้อเพลิง โดยหมวดสินค้าเกษตรขยายตัวดีที่สุด รองมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัว 7.5%, 5.9% และ 4.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -6.5% สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกสำคัญเติบโตดี นำโดย สหรัฐฯ CLMV สหภาพยุโรป และจีนที่ขยายตัว 13.7%, 12.7%, 9.5% และ 3.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัว -5.3% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับตลาดอาเซียน 5 ที่หดตัว -0.8% ใกล้เคียง -1.1% ในปีก่อน โดยสหรัฐฯ นับว่าเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย มูลค่ารวม 54,956.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าปีก่อนที่ 48,352.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดเพิ่มจาก 17% ในปีก่อน
การนำเข้าเดือน ธ.ค. เร่งตัวสูงตามคาดจากฐานต่ำ แต่ดุลการค้าขาดดุลน้อยสุดในรอบ 3 เดือน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยเดือน ธ.ค. อยู่ที่ 24,776.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เร่งขึ้น 14.9% (SCB EIC ประเมินไว้ 14.8% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์ 13.7%) เทียบกับ 0.9% ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยการนำเข้าอาวุธและยุทธปัจจัย สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัว 46.8%, 33.5%, 20.4% และ 13.3% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนหดตัวต่อเนื่องที่ -21.3% และ -9.3% ตามลำดับ ภาพรวมมูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2024 ขยายตัว 6.3% หลังจากที่หดตัว -4.2% ในปี 2023 สำหรับดุลการค้าในระบบศุลกากรเดือน ธ.ค. ขาดดุลเล็กน้อย -10.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าไทยทั้งปี 2024 ขาดดุล -6,280.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขระบบศุลกากร)
ในช่วงต้นปี 2025 การส่งออกมีแนวโน้มโตดีต่อเนื่อง แต่ครึ่งปีหลังมีปัจจัยกดดันสูง
การส่งออกไทยในช่วงต้นปี 2025 จะยังมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จากแนวโน้มการเร่งสั่งซื้อสินค้าของประเทศคู่ค้าก่อนนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยฐานที่ไม่สูงนัก นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์เพิ่มเติมจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้นที่ยังมีอยู่บ้างแม้ต้องระวังความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2025 จากอากาศที่หนาวมากกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกกลุ่มน้ำมันและกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มขึ้น เช่น พลาสติกและปิโตรเคมี อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปราคาน้ำมันมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากนโยบายเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี แรงกดดันการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมากจาก (1) เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% ในปี 2025 จาก 2.7% ในปี 2024 จากทั้งผลของนโยบายกีดกันการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ หลายเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญยังเผชิญกับปัญหาภายใน เช่น จีนที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลากหลายด้าน ยุโรปที่เผชิญการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและปัญหาการเมืองในฝรั่งเศสและเยอรมนี เป็นต้น (2) บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 จากผลกระทบนโยบายกีดกันการค้าในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงผลจากการเร่งส่งออกในช่วงปลายปี 2024 และต้นปี 2025 (3) ความต้องการสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนเพื่อผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายอาจชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นปลายที่จีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และปัญหาจีนผลิตล้นตลาด (China’s overcapacity) มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในตลาดโลก กดดันความสามารถการแข่งขันของสินค้าไทยในการส่งออก และ (4) ปัจจัยฐานสูงในปี 2024 ที่ขยายตัวมากกว่า 5%
ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินมุมมองการส่งออกไทยปี 2025 (ณ พ.ย. 2024) ที่ 2% (ข้อมูลระบบดุลการชำระเงิน) โดย SCB EIC อยู่ระหว่างการประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 2025 ใหม่และเผยแพร่ในเดือน ก.พ.
#SCBEIC #ส่งออก #สงครามการค้า #ทรัมป์ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์