“เอกนัฏ”แฉกลางสภาฯไอ้โม่งจ้องย้าย “รัฐมนตรี” พร้อมให้ค่าตัว 200-300 ล้าน ลั่นไม่กลัว มีหน้าที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม “ภูมิธรรม” กำชับกำลังพล-ยุทโธปกรณ์ช่วยแก้ไฟป่า-ยกระดับซีลชายแดน ป้องกัน PM 2.5 สวน ฝ่ายค้านอย่าโจมตีเป็นเกมการเมือง “บิ๊กเล็ก” แจงสภาฯปม PM2.5 บอกหากประกาศเขตควบคุมมลพิษต้องรอบคอบไม่ให้กระทบศก.-ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดของนายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยเรื่องการปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี จ.อุดรธานี ถามนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ที่พบว่ามีรับซื้ออ้อยเผาสูงกว่า จ.อุดรธานี ไม่พบการสั่งปิดโรงงานเพราะรับซื้ออ้อยเผาเกิน 25%


ด้านนายเอกนัฏ ชี้แจงว่า ยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่นอน และตั้งแต่ตนทำหน้าที่รมว.อุตสาหกรรม ไม่ใช่นั่งเฉยๆในห้องแอร์ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและจัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ ตนสั่งปิดและจับ ดำเนินคดีเด็ดขาด ส่วนกรณีที่มีการวางค่าตัวไว้ว่ามีเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี ขอยืนยันว่า ไม่กลัวเพราะมีหน้าที่ที่ต้องการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม


นายเอกนัฏ กล่าวว่า ทั้งนี้การช่วยเหลืออ้อยสด 120 บาท เสนอเข้าครม.เมื่อเดือนพ.ย. 67  แต่ขณะนี้ ครม. ยังไม่มีมติ อย่างไรก็ดีแนวทางที่จะดำเนินการนั้นต้องการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ที่ให้ของเหลืออ้อย เช่น ใบ ชานอ้อย ไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรตัดใบส่งขายให้โรงงานหากกำหนดราคาที่เป็นธรรม โรงงานจะได้ และเกษตรกรมีรายได้เสริม โดยการวางระบบดังกล่าวจะทำให้ทันก่อนฤดูกาลหน้าที่จะเปิดหีบอ้อย


“การปิดโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี เป็นภารกิจของรัฐบาล ช่วยลดฝุ่นPM 2.5 ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองหรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด แต่เป็นภารกิจที่นายกฯ ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผมที่ต้องการให้ลดการเผาอ้อย โดยล่าสุดพบอัตราการเผาอยู่ที่ 11% ที่ถือว่าต่ำที่สุดบางทีการตัดสินใจไม่ง่าย แต่ต้องช่วยกัน โดยแก้ปัญหามีต้นทุนที่ต้องจ่าย สำหรับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี ที่ถูกปิด อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบพบว่ามีการรับซื้ออ้อยสูงสุดปริมาณ 4แสนตัน พบเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ซื้ออ้อยเผา40% ถือว่าสูงสุด ” นายเอกนัฏ ชี้แจง


นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการในปีนี้ชัดเจนตั้งแต่ ต.ค. 67 ได้แจ้งในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีโรงงานและเกษตรกร เมื่อต.ค.67 มีการขอความร่วมมืองดการเผา เกินวันละ 25% และให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาเกิน 25%  ทั้งนี้มีมติ ครม.ที่ส่งมาถึงตน ขอให้กระทรวงเพิ่มมาตรการงดรับอ้อยเผาโดยสิ้นเชิง  ทั้งนี้ปัญหาการไม่รับซื้ออ้อยเผาที่จ.อุดรธานี ตนได้ช่วยแก้ปัญหาและทราบว่ามีการเคลียร์อ้อยที่ค้างการรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พบว่ามีอ้อยเน่านั้นจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป
นอกจากนี้ นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ยังถามเรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ว่ารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการป้องกันการเผาในภาคเกษตรก่อนเกิดฝุ่นพิษอย่างไรบ้าง อีกทั้งเกณฑ์การแจ้งเตือนไฟป่าที่เป็น Location Base SMS  จะทำอย่างไร และเกณฑ์แจ้งเตือนค่ามาตรฐานฝุ่นPM2.5 กี่ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จึงจะแจ้งเตือน ขณะที่มลพิษทางอากาศในกรุงเทพ อยากทราบว่าป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างไรในกรุงเทพฯและปริมณฑล การแก้ปัญหานี้ต้องกระจายอำนาจ แต่ตอนนี้รัฐบาลยังแทบไม่มีการกระจายอำนาจ ตามกฎหมายที่มีอยู่กำหนดให้มีเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษได้ แต่ก็ยังไม่มีการแต่งตั้ง ตนจะบอกว่าไม่ต้องรอร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาดก็ทำได้เลย ส่วนเรื่องเขตควบคุมมลพิษอยากทราบว่ารัฐบาลตั้งเกณฑ์ไว้เท่าไหร่ถึงจะประกาศเขตควบคุม และยังจะควบคุมมลพิษอยู่หรือไม่ 


“ผมรู้สึกผิดหวังจากการตอบสนอง และการดำเนินการของรัฐบาลในการจัดการฝุ่นพิษ เพราะคำตอบแทบเป็นศูนย์ สุดท้ายจากคำถามและคำตอบ ขอฝากไปยังวิปรัฐบาลและนายกฯ ในการตอบกระทู้สดวันที่ 30 ม.ค. ว่าถ้ากล้าให้มาตอบเอง”


พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม มาชี้แจงแทนนายกฯว่า ในระดับรัฐบาลมีคณะกรรมการอำนวยการเพื่อจัดการมลพิษทางอากาศ ที่มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯและรมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นประธาน และมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้เตรียมการป้องกันในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย(มท.) แจ้งไปยังกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นและภูมิภาค แจ้งเตือนประชาชน กระทรวงคมนาคม ควบคุมยานพาหนะไม่ให้มีควันดำ กระทรวงเกษตรฯ ควบคุมการเผาข้าวและข้าวโพด กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลเรื่องอ้อย นอกจากนี้ยังมีกรมฝนหลวงได้ใช้มาตรการเจาะชั้นบรรยากาศ เพื่อให้ฝุ่นที่อยู่ในพื้นที่ระบายผ่านชั้นบรรยากาศออกไป ส่วนกระทรวงทรัพย์ฯ มุ่งพื้นที่ป่าร่วมกับกระทรวงกลาโหม ตั้งจุดตรวจสกัดและเตรียมพร้อมชุดดับไฟป่า เป็นต้น

รมช.กลาโหม กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า รัฐบาลได้จัดทำฐานข้อมูลเกษตรเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิง ป้องกันไม่ได้แปลว่าห้ามไม่ให้เผา แต่เป็นการจัดการพื้นที่ใดเผาก่อน เผาหลัง และสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกเป็นพืชมูลค่าสูง ด้านงบประมาณนั้น กระทรวงทรัพย์ฯเสนอขอใช้งบกลางต่อครม.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างสำนักงบประมาณจัดสรรให้ อย่างไรก็ตามการแจ้งเตือนนั้นมีแจ้งเตือนในไลน์ทุกวัน รวมถึงกรมควบคุมมลพิษก็แจ้งเตือนด้วย ทั้งนี้ การประกาศเขตมลพิษเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะจะส่งกระทบผลการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะประกาศเขตควบคุม โดยพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ


ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีปัญหาฝุ่น PM 2.5 กองทัพสามารถช่วยอย่างไรได้บ้างว่า ต้องเข้าใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ วันนี้เราขึ้นจุดแดง 160 ตนไปประชุมที่ประเทศเวียดนาม เมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อน ของเขาที่นั่น 300-400 ประเทศลาวเขาก็บอกเหมือนกัน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย ตนได้ประชุมเขตตรวจราชการที่ 10 ,15 ,16 ทางฝั่งเหนือและอีสาน ได้รับรายงานว่าจุดที่สร้างฝุ่น PM 2.5 หรือการเผาอะไรต่างๆ นั้น ถือว่ากระบวนทำงานของเขาทำให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตนก็ได้บอกกับผู้ว่าราชการ 8 จังหวัดภาคเหนือและผู้ว่าราชการ 5 จังหวัดภาคอีสานที่ตนดูแลอยู่ ให้ดำเนินการตรงนี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะมาสอดรับกับนโยบาบปิดซีลชายแดน 


นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่เห็นจุดฮอตสปอตมันอยู่ที่นอกชายแดนในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งดูได้จากดาวเทียม อันนี้ก็ต้องใช้มาตรการของกระทรวงการต่างประเทศในการดำเนินการ ส่วนภายในของเราก็มีปัญหาอยู่บ้าง อย่างกรณีที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้อย่างการตัดอ้อย จริงๆ แล้วรัฐบาลพยายามใช้มาตรการการตัดสด จ่ายเงินเพิ่มเติมให้ เมื่อมาประท้วงคราวนี้เราไปดูมันก็เกิดจากการเผาอยู่ดี เราต้องมีมาตรการพูดคุยกัน เราคุยกันต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนการปฏิบัติของชาวไร่อ้อยบางส่วนได้ ตรงนี้ต้องดำเนินการต่อไป 


ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็พยามใช้มาตรการเฉพาะหน้าหลายเรื่อง ตั้งแต่การห้ามรถบรรทุกใหญ่เข้ามา การให้ปิดโรงเรียน และพยามดูเงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆ ส่วนทหาร ตนสั่งการจะต้องดูเรื่องเครื่องมือมีเพียงพอหรือไม่ อะไรที่มีอยู่เช่น โดรน ก็จะต้องนำมาใช้มาช่วยกัน โดยเฉพาะปัญหาไฟป่า ขณะนี้งบประมาณเดิมอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 400 กว่าล้านบาท ปัจจุบันได้กระจายไปที่ท้องถิ่นซึ่งป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบได้ แต่งบของส่วนกลางอาจยังไม่มากพอ ก็ต้องมาคุยกัน 


นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใย และได้ประกาศแล้ว ฉะนั้นเราจะดำเนินการเต็มที่ ทั้งการเลือกยุทโธปกรณ์ หรือการใช้กำลังพลมาช่วยภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุไฟป่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ทำเรื่องของฝนหลวง ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลง กระทรวงกลาโหมก็มีส่วนช่วยเข้าไปดำเนินการอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกันในระดับนานาประเทศ ส่วนในประเทศต้องบูรณาการร่วมกัน 


เมื่อถามถึงการที่ฝ่ายค้านออกมาโจมตีรัฐบาลและนายกฯ เรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยมีการเชื่อมโยงกับการที่นายก ฯ ไปประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนไม่อยากให้มองแยกส่วน เรื่องของประเทศไม่ได้มีเรื่องฝุ่นอย่างเดียว ยังมีเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการไปประชุมที่ดาวอส เป็นการประชุมของคนทั้งโลกทุกประเทศ เพื่อหามาตการร่วมกันที่จะดำเนินการทางเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ไปก็เสียโอกาสและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้ ไม่อยากให้เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆมาโจมตีนายกฯ แต่อยากให้มาเสนอแนะ ช่วยคิดว่าทางที่แก้ได้จริงๆ คืออะไร ถ้าสามารถทำให้สาธารณชนเห็นว่านั่นคือทางออก รัฐบาลก็ยินดีทำอยู่แล้ว ไม่อยากให้เอาเกมการเมืองมาปนกับการแก้ไขปัญหาของประชาชน 


เมื่อถามว่า รัฐบาลควรออกคำสั่งที่เด็ดขาดมากกว่าขอความร่วมมือหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อันนี้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนอยู่แล้ว เราก็เริ่มจากปัญหาที่เบา ขณะนี้หลายเรื่องเป็นมาตรการ เราก็เริ่มเข้มงวดขึ้น เช่น เรื่องชายแดนก็กำลังเข้าสู่กระบวนการเข้มข้นและต้องมีอีกหลายเรื่อง