สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
แม้กูรูการเมืองหลายคนเชื่อว่ารัฐบาลนี้มีโอกาสอยู่ยาว เนื่องด้วยยังไม่พร้อมลงสนามเลือกตั้ง ทว่า การเมืองแบบไทยๆ นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลดูเหมือนจะไม่แนบแน่นเท่าไรนัก 2 พรรคแกนหลักอย่างเพื่อไทย และภูมิใจไทย มีการหักเหลี่ยมเฉือนเชิงกันตลอด โดยเฉพาะล่าสุดในประเด็นร้อนเกี่ยวกับปัญหาที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่ว่ากันว่าเป็นจุดอ่อนของครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย และปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ จ.ปทุมธานี ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ “จุดสลบ”ของตระกูลชินวัตร …*…
จริงๆ แล้วทั้ง 2 ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ ยืดเยื้อมายาวนาน แต่มักถูกขุดมาสร้างแรงกดดัน คล้ายกับมุ่งสร้างตราบาปทางการเมือง มากกว่าหวังผลด้านกฎหมาย...*...
โดยปัญหาที่ดินเขากระโดงนั้น เกิดจากความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ หลังมีการอ้างอิงจากเอกสารของรัฐที่กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ตั้งแต่ปี 2478 ต่อมา มีการใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรหรือกิจกรรมอื่น ๆ โดยประชาชนในพื้นที่บางส่วนได้ขอออกเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดินจากหน่วยงานท้องถิ่น ด้วยการยืนยันว่าได้ครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางข้อสงสัยว่ากระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบางแปลงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ รฟท.ยืนยันว่าที่ดินนั้นยังเป็นของ รฟท. และเป็นที่ดินสาธารณะ ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชนได้ …*…
ขณะที่มีรายงานข่าวว่ามีบุคคลสำคัญหรือผู้มีอิทธิพลเข้าครอบครองที่ดินในเขตเขากระโดง สร้างข้อกังขาเกี่ยวกับความถูกต้องของการครอบครอง มีการใช้ที่ดินเพื่อกิจการส่วนตัว เช่น การทำธุรกิจหรือการสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิมของที่ดิน …*…
ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานที่ดินและกรมที่ดิน ได้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ และพบว่าบางส่วนอาจไม่ถูกต้อง และมีการฟ้องร้องในศาลเพื่อยกเลิกเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบ กระทั่งเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนในพื้นที่ กระทั่งมีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ในที่ดิน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ …*…
ส่วนปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ที่คาราคาซังมายาวนานเช่นเดียวกันนั้น มาถึงจุดดไคลแมกซ์สำคัญเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2568 หลังนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในคำสั่งเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนสู่สถานะที่ธรณีสงฆ์ โดยนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่าไม่กังวลกับคำสั่งดังกล่าว และระบุว่ากรมที่ดินจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยจะแจ้งคำสั่งเพิกถอนต่อผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด …*…
และในกรณีที่มีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยตามราคาประเมินที่ดิน ซึ่งอาจสูงถึง 7,700 ล้านบาท อธิบดีกรมที่ดินบอกว่าหากต้องชดเชยจริง อาจต้องขอบรรจุในงบประมาณประจำปี เนื่องจากกรมที่ดินไม่ได้ตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ ...*...
ด้านนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้นำจิตวิญญาณพรรคเพื่อไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับที่ดินผืนนี้ ยืนยันว่าที่ดินอัลไพน์ได้มาโดยสุจริต และพร้อมรับผลทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น …*…
กระนั้น ที่นายทักษิณประกาศว่าพร้อมยอมรับทุกสถานการณ์นั้น น่าสนใจว่าจะสามารถยอมรับได้จริงหรือไม่ หากผลออกมาตามที่นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ให้ความเห็นว่า การทำทำนิติกรรมซื้อที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์เป็นการสมคบกัน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินวัด ซื้อขายไม่ได้ นิติกรรมซื้อขายมีวัตถุประสงค์ขัดต่อหลักกฎหมายโดยชัดแจ้ง ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี และขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน การซื้อขายครั้งนั้นเป็นโมฆะ จะเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินไม่ได้ ...*...
“ถ้าอธิบดีคนใดจ่ายก็ติดคุก เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าเอาเงินหลวงไปจ่ายก็ติดคุกเองตามมาตรา 150 หากตั้งงบประมาณแผ่นดินไปจ่ายเรื่องนี้ ก็ติดคุกกันทั้งสภาถ้าผ่านกฎหมายงบประมาณเรื่องนี้”นายถาวรระบุ …*…
จริงๆ แล้ว การหาทางออกปัญหาที่ดินเขากระโดง และสนามกอล์ฟอัลไพน์ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่รัฐบาลต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใส และพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขข้อพิพาทโดยไม่กระทบต่อสิทธิของทั้งทุกฝ่าย …*…
แต่เมื่อทั้ง 2 ปัญหานี้ มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องรอดูกันต่อไป สุดท้ายแล้ว จะมีบทสรุปอย่างไร กระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน ถึงขั้นต้องพังครืนเลยหรือไม่ เพราะหน่วยงานที่เป็นหัวหอกในการรุกไล่ทวงคืนที่ดินเขากระโดงอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคเพื่อไทย และหน่วยงานที่มีความสำคัญในการชี้เป็นชี้ตายปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทย …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (23/1/68)