เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน นำศรัทธาสาธุชน ทำบุญถวายเสนาสนะและทอดผ้าป่ามหากุศล บูรณะวัดก้ำก่อ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน 

วันที่ 23 มกราคม 2568 ณ วัดก้ำก่อ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยกองมู เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีทำบุญถวายเสนาสนะและทอดผ้าป่ามหากุศล บูรณะวัดก้ำก่อ  ด้วยทางวัดได้บูรณะพื้นศาลาการเปรียญ ( จองตาน ) ด้านทิศตะวันออกเสร็จสิ้นแล้ว ทางคณะกรรมการและคณะศรัทธาเป็นควรให้มีงานทำบุญถวายเสนาสนะ เพื่อประโยชน์ในการใช้สอยของพระสงฆ์และสาธุชนต่อไป และในโอกาสเดียวกันนี้ วัดก้ำก่อได้สร้างมาแล้วเป็นเวลา 133 ปี จึงทำให้พื้นไม้เดิมเกิดการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา มีความจำเป็นต้องบูรณะพื้นศาลาการเปรียญ ด้านทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ โดยลำดับ คณะศรัทธาสาธุชน จึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการทำบุญทอดผ้าป่ามหากุศล เพื่อนำเงินสมทบทุนการบูรณะพื้นศาลาการเปรียญวัดก้ำก่อ เป็นการอนุรักษ์และรักษาศาลาการเปรียญวัดก้ำก่อแห่งนี้ ให้มีสภาพมั่นคง แข็งแรง และอยู่คู่เมืองแม่ฮ่องสอนยั่งยืนสืบไป 

โดยในวันนี้ พิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 น. คณะศรัทธา แห่องค์ผ้าป่าไปตามถนนสายต่าง ๆ ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เวลา 10.00 น. ฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ กล่าวคำถวายองค์ผ้าป่า และถวายจตุปัจจัยไทยทานหัววัด พระสงฆ์อนุโมทนา กรวดน้ำรับพร เวลา 11.00 น.ถวายเพลแด่พระภิกษุสามเณร เลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงาน เป็นเสร็จพิธี 

วัดก้ำก่อ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองแม่ฮ่องสอน มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่แพ้วัดอื่น โดยเฉพาะลักษณะพิเศษที่มีหลังคาคลุมทางเดิน ตั้งแต่ซุ้มทางเข้าไปสู่ศาลา "วัดก้ำก่อ" (ก้ำก่อภาษาไทยใหญ่แปลว่า "ดอกบุนนาค")ตามประวัติกล่าวว่าวัดก้ำก่อสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ . ศ 2433 ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำเ เดือน 2 ปีขาล จ.ศ. 1252 โดยเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด นามว่า '' ครูบาเฒ่า '' ชาวไทใหญ่ผู้อพยพมาจากเมืองเชียงทอง เป็นผู้ริเริ่มสร้างวัดนี้ขึ้น ชาวบ้านทั่วไปขนานนามท่านว่า ''ตุ๊เจ้าเจียงตอง'' (ออกเสียงตามภาษาพื้นเมือง) หมายถึงพระที่มาจากเมืองเชียงของนั่นเอง ประวัดการก่อตั้งวัดก้ำก่อพอจะสรุปได้ว่าเมื่อครั้งที่ครูบาเฒ่าอพยพมาจากเมืองเชียงทองเข้ามาสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ท่านได้เดินทางมาจนพบที่ว่างขนาดครึ่งสนามฟุตบอลอยู่ท่ามกลางป่าไม้ล้อมรอบ สามารถสร้างวัดได้โดยไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่าหรือทำการปรับพื้นที่ให้ ๆ อีกจึงได้ชักชวนชาวบ้านมาดูและตัดสินใจสร้างวัดขึ้นในที่นั้น โดยชาวบ้านเป็นผู้หาวัสดุก่อสร้างและลงแรงกันเอง 

วัดก้ำก่อมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ คือมีการสร้างวัดโดยฝีมือของช่างชาวไทใหญ่ที่ได้เข้ามาอาศัยและได้ศรัทธาในวัดนี้ วัดก้ำก่อมีสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่น คือมีซุ้มประตูทางเข้าไปสู่ศาลาการเปรียญ หรือที่เรียกว่า "ส่างหว่าง" เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของอาคารทางพระพุทธศาสนาในจังหวัดแม่ฮ่องสอนตามแบบสถาปัตยกรรมไต(ไทใหญ่) จะมีเฉพาะอาคารวัดเท่านั้นไม่มีในอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ในสมัยก่อนเมื่อจะเข้าไปในวัดชาวบ้านจะนิยมถอดรองเท้าไว้แล้วเดินเข้าวัดทาง "ส่างหว่าง" เนื่องจากเชื่อกันว่าถ้าสวมรองเท้าเข้าไปในวัดนอกจากจะไม่เคารพสถานที่แล้ว เวลาเดินออกจากวัดนั้นยังจะมีดินมีทรายติดรองเท้าไปด้วยถือว่าเป็นบาปมาก และเพื่อไม่ให้นำสิ่งสกปรก สิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายเข้าไปในวัดและในขณะเดียวกันก็จะไม่เอาอะไรออกจากวัดไป ดังนั้นเมื่อเรายืมสิ่งของจากวัดเช่น ถ้วย จาน ฯลฯ ของวัดไปใช้ในงานบุญต่าง ๆ แล้ว เวลาส่งคืนวัดหากสิ่งของใดขาดไปต้องรีบเอาสิ่งนั้นในบ้านมาใช้แทนหรือไม่ก็ซื้อใหม่มาใช้แทนทันที โดยจะถือว่าสิ่งของของตนไปอยู่ในวัดดีกว่าสิ่งของในวัดมาอยู่ในบ้านของตน ส่างหว่างเป็นสถาปัตยกรรมไต (ไทใหญ่) ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2484 โดยนายส่วยจิ่ง นางยุ้น ตรีทอง เป็นเจ้าศรัทธาสร้างถวาย