สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์                 

พระกริ่งเทพโมลี พระกริ่งรุ่นแรก ของ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (แพ ติสฺสเทว) สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2441-2442 เป็นพระกริ่งมีความงดงามของพุทธศิลปะและความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธานุภาพเป็นที่ปรากฏ โดยมีพุทธลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกริ่งอื่น ทั้งสายวัดบวรนิเวศวิหารและสายวัดสุทัศน์ เรียกได้ว่า มีเอกลักษณ์ที่ยากจะหากริ่งใดเสมอเหมือน ประการสำคัญคือ จำนวนการสร้างน้อยมาก จึงหาดูหาเช่าของแท้ๆ กันได้ยากยิ่ง นับเป็นหนึ่งในสุดยอดพระกริ่งของไทยอันทรงคุณค่าและมีค่านิยมสูง

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) พระนามเดิมว่า "แพ" ประสูติในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ ณ วันพุธ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรงจุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2399 บิดาชื่อ อ้น เป็นชาวสวนบางลำภูล่าง อ.คลองสาน ฝั่งธนบุรี

พระชันษา 7 ปี ได้ศึกษาอักษรสมัยกับ สมเด็จพระวันรัตน์ (สมบูรณ์) ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เมื่อพระอาจารย์ย้ายไปครองวัดราชบุรณราชวรวิหาร พระองค์ได้ย้ายตามไปด้วย และบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ. 2411 โดยมี สมเด็จพระวันรัตน (สมบูรณ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ จนปี พ.ศ. 2422 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเศวตฉัตร โดยมี สมเด็จพระวันรัต (แดง) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วย้ายมาอยู่วัดสุทัศน์ ทรงได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์เรื่อยมา และในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2487 สมัยรัชกาลที่ 8 สิริพระชนมายุ 89 พระพรรษา 66

ในโอกาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ที่ “พระเทพโมลี” เมื่อปี พ.ศ.2441 นั้น ท่านได้สร้างพระกริ่งขึ้นเป็นครั้งแรก ตามตำรับ ‘วัดป่าแก้ว’ และ ‘พระกริ่งปวเรศ’ ที่ทรงรำลึกถึง ซึ่งตำรับการสร้างมีความละเอียดซับซ้อนและเต็มไปด้วยพิธีกรรมมากมาย ท่านได้ตรัสว่า “ดีในและดีนอก” หมายถึง เมื่อสร้างพระกริ่งออกมาแล้ว จะต้องมีเสียงเขย่าของเม็ดกริ่งที่ดังกังวาน และไม่ปรากฏรูเจาะ-รูคว้านให้เห็น ต้องทำให้เป็นเนื้อเดียวกับองค์พระ ซึ่งคือ “ดีใน” สำหรับ “ดีนอก” คือ มวลสารแห่งเนื้อพระต้องตามสูตรอย่างโบราณ ประกอบไปด้วย

1. ชิน นํ้าหนัก 1 บาท (1 บาท = 15.2 กรัม)                          

2.จ้าวนํ้าเงิน นํ้าหนัก 2 บาท  (แร่ชนิดหนึ่งสีเขียวปนนํ้าเงิน)                            

3.เหล็กละลายตัว นํ้าหนัก 3 บาท                                        

4.ทองแดง บริสุทธิ์นํ้าหนัก 4 บาท                                       

5.ปรอท นํ้าหนัก 5 บาท                                             

6.สังกะสี นํ้าหนัก 6 บาท                                          

7.ทองแดง นํ้าหนัก 7 บาท                                        

8.เงิน นํ้าหนัก 8 บาท                                     

9.ทองคำ นํ้าหนัก 9 บาท

นำมาหล่อหลอมให้กินกันดี นำมาตีเป็นแผ่น แล้วจารยันต์ 108 กับ นะ ปถมัง 14 จึงจะได้ “เนื้อนวโลหะ” ออกมาเป็นสีนากสุก เมื่อปล่อยไว้นานเข้าจะกินอากาศเป็นผิวกลับดำ มีพรายเงิน พรายทอง แล้วแต่กระแสโลหะ และผิวดำมันวาวอย่างสีปีกแมลงทับ นอกจากนี้ จำนวนการจัดสร้างก็ต้องถือคติกำลังวัน เช่น วันจันทร์ มีกำลังวัน 15 ก็สร้างพระ 15 องค์, วันอังคาร กำลังวัน 8 ก็สร้าง 8 องค์ เป็นต้น

พระกริ่งเทพโมลี ซึ่งนับเป็นพระกริ่งรุ่นแรกนั้น มีความสูง 4.2 ซม. ฐานกว้าง 2 ซ.ม. กล่าวกันว่า พระกริ่งรุ่นนี้มีจำนวนการสร้างน้อยมาก โดยจัดสร้างเป็น 2 ครา ครั้งแรกในปี พ.ศ.2441 จำนวน 9 องค์ และสร้างอีกครั้งในปี พ.ศ.2442 อีกจำนวนหนึ่ง โดยรวมแล้วไม่น่าจะเกิน 20 องค์ ทำพิธีหล่อที่หน้ากฏิใหญ่ ในคณะ 11 วัดสุทัศน์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือช่างหลวง เนื่องจากเป็นการหล่อที่สวยงามสมบูรณ์ ผิดกับพระกริ่งที่สร้างรุ่นหลังๆ เป็นอันมาก เป็นพระกริ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของพระกริ่งสำนักใดมาจัดสร้าง เป็นพุทธศิลปะแบบไทยประยุกต์ โดยสร้างเป็น ‘เนื้อนวโลหะ’ ภายในขาวคล้ายเงิน แล้วกลับดำสนิท ซึ่งมีจุดสังเกตและตำหนิพระกริ่งเทพโมลี ดังต่อไปนี้

ชี้ตำหนิพระกริ่งเทพโมลี

1. สร้อยประคำทั้งด้านหน้าและด้านหลังใช้วิธีกดหุ่นในเทียน                           

2. เม็ดพระศก บัว และสร้อยประคำ ใช้วิธีกดหุ่นในเทียนแล้วนำมาแต่งภายนอกอีกครั้งหนึ่ง

3. ด้านข้างปรากฎร่องรอย การประกบแม่พิมพ์                                                

4. ใต้ฐานองค์พระกริ่ง (ก้นพระ) มีหมายเลขไทยกำกับไว้                                   

5. ที่ด้านข้างขององค์พระกริ่งมีการเจาะรูตะปูเพื่อใส่เม็ดพระกริ่ง 1 รู  

พระกริ่งวัดสุทัศน์ ที่สร้างใน สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2441-2486 มีด้วยกันหลายรุ่น ซึ่งล้วนทรงคุณค่าและทรงพุทธาคมเป็นเลิศ เป็นที่นิยมสะสมและแสวงหาทั้งสิ้น อาทิ พระกริ่งธรรมโกษาจารย์, พระกริ่งพรหมมุนี และ พระกริ่งพุฒาจารย์ เป็นต้น แต่ด้วยจำนวนการสร้างในแต่ละรุ่นนั้นน้อยมาก ปัจจุบันจึงนับว่าหาได้ยากยิ่งนัก และรุ่นสุดท้ายที่พระองค์ทรงสร้างไว้ คือ “พระกริ่งเชียงตุง” ซึ่งสร้างในปี พ.ศ.2486 หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) การสร้าง ‘พระกริ่งสายวัดสุทัศน์’ ยังคงสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการพัฒนาและต่อยอดมาจนทุกวันนี้ครับผม