วันที่ 23 ม.ค.68 เวลา 9.30 น. ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพมหานคร บริษัท นฤมิตไพรด์ จัดงาน “วันสมรสเท่าเทียม” (Marriage Equality Day) จดทะเบียนสมรสคู่รัก LGBTQIAN+ เป็นวันแรกใน กทม. โดยมีการตั้งขบวนนางรำ กลองยาว ต้นกล้วย ที่บริเวณปาร์คพารากอน เพื่อรอแห่สมรสเท่าเทียม จากนั้นเวลา 10.40 น. ขบวนแห่สมรสเท่าเทียมได้เคลื่อนขบวนจากปาร์คพารากอนไปยังพารากอนฮอลล์ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวอรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด นักแสดงดัง อิงฟ้า วราหะ และ ชาล็อต ออสติน พร้อมด้วย คู่รัก LGBTQIAN+ และเพื่อนชาว LGBTQIAN+ นับร้อย เข้าร่วม
จากนั้นขบวนฯ เดินทางถึงเวทีเปิดสายรุ้งภายในพารากอนฮอลล์ โดยมีการแสดงจากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนานและอบอุ่น เต็มไปด้วยการประดับสายรุ้งและบับเบิ้ล (ฟองสบู่) โปรยปรายทั่วงาน
ต่อมาเวลา 11.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวิดีโอเนื่องในโอกาส กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้วันนี้ ว่า ในนามของรัฐบาลขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนที่ต่อจากนี้ ทุกความรักของคนไทย จะถูกรับรองทางกฎหมาย ทุกคู่จะมีชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 2 ทศวรรษของการต่อสู้ทั้งในทางกฎหมาย การเผชิญหน้ากับอคติ และการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคม ชัยชนะในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ จากความร่วมมือของทุกคน พร้อมกันนี้ นายกฯ กล่าวขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นทำงานร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเต็มที่ ตามที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้กับพี่น้องประชาชน ขอขอบคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน สมาชิกวุฒิสภาที่ร่วมกันผลักดันกฎหมายฉบับนี้ผ่านกลไกของรัฐสภา ขอขอบคุณ สื่อมวลชนที่เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ช่วยทำลายมายาคติและอคติที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้เรามาถึงวันนี้ และสำคัญที่สุด ขอบคุณภาคประชาชน พี่น้อง LGBTQIA+ แกนนำสำคัญที่ทำให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ในวันนี้ได้สำเร็จ รวมถึง ความทุ่มเททำงาน สร้างการรับรู้ต่อสู้กับอคติมาตลอดหลายปี ทำให้สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศด้วยหัวใจได้อย่างแท้จริงทำให้ธงสีรุ้งปักลงบนประเทศไทยอย่างภาคภูมิ ทำให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชียที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและยึดมั่นเสมอว่า คนไทยทุกเพศ และความรักทุกรูปแบบควรได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมกฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยรับรู้และเคารพในความแตกต่างหลากหลายทั้ง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ศาสนา ทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เพราะความแตกต่าง ไม่ใช่ข้ออ้างในการเลือกปฏิบัตินายกฯ เชื่อมั่นพลังความรักของทุกคนที่ทำให้ในวันนี้ประเทศไทยได้บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ทำให้ทั้งโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยโอบรับความรักทุกรูปแบบ ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย พร้อมเชิญชวนให้คนไทยมาร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จนี้ไปด้วยกัน และขอแสดงความยินดีกับคู่สมรสใหม่ทุกคู่
นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “วันสมรสเท่าเทียม (Marriage Equality Day” ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ไทยจารึกไว้ จากการเดินทางมา 20 ปี เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงออกถึงความรัก โดยไม่จำกัดเพศสภาพ สามารถเชิดหน้าชูตาในสังคมได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อสักครู่เอกอัครราชทูตท่านหนึ่งบอกกับตนเองว่า ไม่ต้องเตรียมสคริปต์ เพราะมาจากใจ มีหลายเรื่องที่อยากจะพูด แต่การมีสคริปต์ก็เพื่อเตือนความจำ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนเองและพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนและพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญมาตลอด ขอเน้นเรื่องเท่าเทียม ไม่ใช่เหนือกว่าคนอื่น การใช้เวลานานขนาดนี้ อาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจและอาจมีการเรียกร้องสิทธิ์ให้เหนือกว่า ทั้งนี้ ความเท่าเทียมเป็นสิ่งพื้นฐานของทุกคน ทุกคนควรมีความเท่าเทียมเรื่องเพศสภาพ
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าการเมือง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย เรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักไม่แพ้เรื่องเศรษฐกิจ ที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด ตนเองไม่อยากใช้คำว่าชุบมือเปิบกับความสำเร็จที่พวกเราได้เดินทางมาไกล เพราะมีหลายพรรคการเมืองหลายรัฐบาลที่พยายามผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง
นายเศรษฐา กล่าวด้วยว่า ความรักที่มีต่อกันไม่ต้องแอบอีกแล้ว สามารถเชิดหน้าชูตา เป็นอย่างที่เราอยากเป็น อยู่อย่างที่เรา อยากอยู่ แสดงออกอย่างที่เราอยากแสดงออกได้อย่างเต็มตัว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศหนึ่ง ตนรู้สึกตกใจ เราเป็นประเทศเล็ก ท่านประกาศชัดเจนว่ามี 2 เพศเท่านั้นในประเทศท่าน คงไม่ใช่ความเหมาะสมที่ตนจะมากล่าวขัดแย้งกับประเด็นนี้ ขอใช้คำว่าเรามีประชากร 68 ล้าน คนถึงแม้ขนาดเศรษฐกิจไม่ได้ใหญ่เท่าเขา ภายใต้การนำของนายกฯแพรทองธาร ชินวัตร เชื่อว่าเราหัวใจใหญ่กว่า เรายอมรับกับคนที่อยากจะเป็น เราให้เกียรติ ให้เวที ให้พื้นที่พวกเขา อย่างที่พวกเขาสมควรที่ได้รับ แม้จะเป็นการรอคอยนานกว่า 20 ปี
นายเศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อครู่นี้ตนเองได้เจอคู่สมรสอายุ 63 ปี กับ 78 ปี อยากจะขอแสดงความยินดี และขอโทษในเวลาเดียวกันว่า "Better late than never สายกว่ายังดีกว่าไม่มา" ประเทศไทยมีสมรสเท่าเทียมเป็นที่แรก ๆ ของเอเชีย เราอาจเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว เชื่อว่าชาว LGBTQIAN+ จากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้ามาสร้างเศรษฐกิจสีรุ้งให้กับประเทศไทย
นางจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาส กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้วันนี้ว่า ตนเชื่อว่าทุกคนในที่นี้รู้สึกเช่นเดียวกันบรรยากาศและสถานที่อบอวล ไปด้วยความสุขความรัก ความรักที่เท่าเทียม และความรักที่มีสิทธิ์ที่จะเลือก และเป็นัความรักที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลขอแสดงความยินดีกับทุกคน และองค์กรผู้ทำงานด้านความเท่าเทียม ข้าราชการ นักการเมือง ภาคประชาชนผู้ที่เดินหน้าผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้สำเร็จ แน่นอนว่าความสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้เป็นประวัติศาสตร์
นอกจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลแล้วสิ่งที่สำคัญคือแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนไม่ว่า จะเป็นภาคประชาชนที่แข็งแกร่ง ภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนจากรัฐบาล และราชการที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมด้วยพรรคการเมืองที่ทำงานร่วมกันอย่างหนักจนกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบอย่างถล่มทลาย และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนชาวไทยที่หัวใจเปิดกว้างการมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน และจะเป็นก้าวสำคัญของการเดินไปสู่สังคม ที่เปิดกว้างยอมรับความหลากหลายลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่การให้สิทธิ์ แต่หมายถึงว่าคู่รักมีสิทธิ์ที่จะดูแลกันตามกฎหมายได้ เช่น การทำพินัยกรรม การรับมรดก การเข้าถึงสิทธิ์สวัสดิการสิทธิของสังคม เช่นเดียวกับคู่รักทุกเพศ
ทั้งนี้นอกจากความเท่าเทียมแล้วสิ่งนี้จะเป็นหลักประกันให้กับทุกคน ให้การปลดปล่อยศักยภาพเพื่อสร้างความฝันกับชีวิตของตนเองอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ขอเรียนว่า เมื่อเราก้าวผ่านมาตรฐานสำคัญไปอีกขั้น การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร พร้อมสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมผ่านการรับฟัง อย่างรอบด้านและครบถ้วน และจะเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทิ้งใครไปข้างหลัง และจะเดินไปข้างหน้าพร้อมกันสุดท้ายนี้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นก้าวสำคัญ ที่จะสามารถร่วมกันสร้างสังคมที่ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อทางการเมืองทำให้ทุกตารางนิ้วในประเทศไทย เป็นพื้นที่สำหรับทุกเพศและทุกคน
นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม สำหรับรัฐบาลความเท่าเทียมคือโอกาส นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลนี้หยิบยื่นให้ เราได้ประกาศตัวแล้วทางด้านกฎหมายและศีลธรรม การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายหมดแล้ว ในนามของรัฐบาลไทย ยินดีกับทุกท่าน หากประเทศไหนปิดกั้น ประเทศนี้เปิดรับทุกคน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญมากๆ กทม.ขอแสดงความยินดี เราเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของการเดินทางที่ยาวนาน ต่อไปนี้กทม.ต้องรับไม้ต่อ เพราะมีหน้าที่จดทะเบียนตามกฎหมาย และพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เรื่องสำคัญไม่ใช่เรื่องสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่แสดงถึงจิตวิญญาณทุกคนที่โอบกอดทุกคนไว้ด้วยกัน รวมทั้งคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ความเชื่อ ศาสนา ถือเป็น จุดแข็งของสังคมไทย ที่ทุกคนมาอยู่แล้วรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ เพื่อให้กรุงเทพฯของเราเป็นเมืองน่าอยู่
นางสาวอรรณว์ ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวว่า การขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมใช้เวลากว่า 20 ปี ก่อนวันนี้จะมาถึง เต็มไปด้วยอุปสรรค บางคู่รักถูกมองเป็นตัวประหลาด ถูกไล่ออกจากบ้าน และวันนี้เปรียบเสมือนวันแห่งความสำเร็จ เป็นวันแห่งชัยชนะ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้นฤมิตไพรด์ จะยื่นหนังสือถึง Guinness World Records เพื่อให้พิจารณาบันทึกสถิติโลกเพราะถือว่ามีจำนวนคู่รัก LGBTQIAN+ มาจดทะเบียนสมรสมากที่สุดในโลก
ต่อมาเวลา 11.30 น. มีการแสดงเพลงจาก อิงฟ้า วราหะ และ ชาล็อต ออสติน ก่อนจะมีพิธีมอบมาลัยมงคลให้กับคู่รัก LGBTQIAN+ ที่มาร่วมจดทะเบียนสมรส 30 คู่แรก พร้อมถ่ายภาพหมู่ร่วมกับคู่รัก LGBTQIAN+
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีคู่รักเดินทางมาจดทะเบียนสมรส ที่พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน แล้ว จำนวน 70 คู่ จากที่ลงทะเบียนจดทะเบียนสมรสล่วงหน้า 193 คู่ และจะเปิดรับถึงเวลา 18.00 น. ส่วนภาพรวมการจดทะเบียนสมรส ทั้ง 50 เขต มีจำนวน 140 คู่