ลีลาชีวิต/ทวี สุรฤทธิกุล

เรื่องเบ้งเฮ็กแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” หลายอย่าง ที่ยังคงอยู่ในตัวคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ชื่อ “เบ้งเฮ็ก” อาจจะฟังดูไม่เป็นไทยเท่าไหร่นัก ซึ่งท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า “อันชื่อเบ้งเฮ็กก็ดี ชื่อเมืองมันอ๋องก็ดี เป็นชื่อที่ออกสำเนียงตามภาษาจีนเรียกชื่อไทย เป็นต้นว่า ในพงศาวดารจีนเอ่ยถึง เซียนเลียดพ่อโล้จูกงสีอ้ายยู้เที้ยพูอ้าย เจ้าเมืองเซี่ยมล่อก๊กนี้ เมื่ออ่านแล้วก็จะต้องตรึกตรองอยู่เป็นนาน จึงเข้าใจว่าเป็นภาษาจีนเรียก สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาผู้ใหญ่ แต่คำว่าเบ้งเฮ็กและมันอ๋องนั้น เป็นชื่อดึกดำบรรพ์ จะเป็นภาษาไทยว่ากระไรก็สุดที่จะเดา จะต้องเรียกภาษาจีนต่อไป”

เบ้งเฮ็กเมื่อประกาศตัวเป็นกบฏก็จัดทัพตั้งมั่นคอยต่อสู้ ฝ่ายขงเบ้งก็จัดทัพใหญ่ลงมาปราบ ในเรื่องสามก๊กบอกว่ามีจำนวนทหารถึง “ห้าสิบหมื่น” โดยวาดหวังจะทำสงครามให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เบ้งเฮ็กมีพันธมิตรเป็นเจ้าเมืองเชื้อสายจีน 3 คน ที่เบ้งเฮ็กตั้งให้เป็นเมืองหน้าด่าน แต่ขงเบ้งก็ใช้กลอุบาย “ยุแยงให้แตกแยก” จนกระทั่งเจ้าเมืองทั้งสามนี้พ่ายแพ้ ในสงครามครั้งแรกนี้มีนายทหารไทยที่ไปร่วมรบกับเมืองหน้าด่านทั้งสามถูกจับเป็นเชลยด้วยหลายคน  ขงเบ้งก็ให้เอามา “เลี้ยงโต๊ะและให้ของกำนัล” เพื่อหลอกล่อเอาข้อมูลเกี่ยวกับกองทัพไทย ก่อนที่จะปล่อยตัวไป ซึ่งกลยุทธ์ต่าง ๆ นี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ขงเบ้งคงจะได้มาจากตำราพิชัยสงครามของซุ่นจู๊(หรือซุนวู) ที่เกิดก่อนขงเบ้งเมื่อ 700 ปี ด้วยหลักการ “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะทั้งร้อยครั้ง” โดยขงเบ้งได้บอกกับแม่ทัพในฝ่ายของเขาว่า คนไทยแม้จะอยู่ในป่าในเขา ก็จะประมาทคนไทยไม่ได้ จึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับคนไทยให้มากที่สุด

เบ้งเฮ็กถูกทหารของขงเบ้งจับตัวได้ในสงครามครั้งต่อมา เพราะหลงกลศึกง่าย ๆ ที่ขงเบ้งชอบใช้บ่อย ๆ คือส่งกำลังบางส่วนให้ไปถูกโจมตี แล้วทำทีแตกพ่ายถอยร่นมาในที่ควบคุม เพื่อให้ทหารอีกส่วนหนึ่งที่ซุ่มอยู่เข้าโจมตี ซึ่งก็ได้ผล ส่วนขงเบ้งเมื่อได้ตัวเบ้งเฮ็กมา พร้อมด้วยเชลยไทยจำนวนมาก ก็ทำทีใจดี จัดอาหารเลี้ยงดูและการแสดงให้ชม พร้อมกับ “กล่าวปราศรัย” มีเนื้อหาที่ทำให้ทหารเหล่านี้อาลัยอาวรณ์คิดถึงบ้าน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า นี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่มีอยู่ในเรื่องสามก๊ก ในตอนเพลงปี่เตียวเหลียง ซึ่งขงเบ้งก็คงไปจดจำมา จากนั้นขงเบ้งก็ให้ปล่อยเบ้งเฮ็กและเชลยทั้งหมด เพราะขงเบ้งมี “อุบาย” อย่างหนึ่ง ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนไว้ว่า

“แต่ที่ขงเบ้งกลับปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปฉะนี้ ก็เพราะเหตุว่าขงเบ้งมีแผนการล่วงหน้า ที่จะกระทำกับชาติไทยและคนไทยไว้แล้ว ขงเบ้งมาคราวนี้มิได้มีเจตนาจะมาฆ่าเบ้งเฮ็กให้ล้มตาย แต่จะมากลืนเบ้งเฮ็กเสียทั้งเป็น (อย่าลืมนะครับว่า หนังสือที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเชิดชูคนไทยเล่มนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “เบ้งเฮ็ก ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น”) ... ขงเบ้งรู้ดีว่า คนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการต่อต้านกับมหาอำนาจจีน เพื่อเรียกร้องเอาเอกราชคืนมาทั้งนี้คือตัวเบ้งเฮ็ก แต่เบ้งเฮ็กนั้นมิได้ต่อสู้อยู่คนเดียว ยังมีขุนและพ่อเมืองคนอื่น ๆ สนับสนุนอยู่เป็นอันมาก ถ้าขงเบ้งฆ่าเบ้งเฮ็กเสียในตอนนี้ ก็หาใช่ว่าสงครามนั้นจะเสร็จสิ้นลงไปไม่ ยังมีขุนอื่นพ่อเมืองอื่นที่จะลุกขึ้นเป็นหัวหน้า ต่อสู้กับขงเบ้งต่อไปอีก แต่ถ้าขงเบ้งทำใจดีสู้เสือ ปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไป เบ้งเฮ็กนั้นเองจะเป็นผู้ไปชักนำคนไทยที่มีกำลังสำคัญ มาให้ขงเบ้งฆ่าเสียทีละคนจนหมด เมื่อคนที่เป็นมิตรกับเบ้งเฮ็กตายไปจนหมดแล้ว เบ้งเฮ็กก็จะหมดกำลัง ขงเบ้งจะทำอะไรกับเบ้งเฮ็กก็ได้

วัตถุประสงค์สำคัญของขงเบ้งก็คือ จะตัดกำลังสนับสนุนของเบ้งเฮ็กให้หมดสิ้นไปเสียก่อน และเมื่อเบ้งเฮ็กยอมกลัวราบคาบแล้ว ก็จะตั้งให้เบ้งเฮ็กปกครองแผ่นดินไทยต่อไป คนไทยก็จะยอมกลัวขงเบ้งทั้งเมือง ขงเบ้งก็จะกลืนชาติไทยได้สนิท”

ตรงนี้ผู้เขียนอยากจะอธิบายแทรกว่า “สังคมไทย” หรือการอยู่ร่วมกันของคนไทย มีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือ มีการกระจายตัวกันปกครองเป็นเมืองเล็ก ๆ กระจายกันไปในพื้นที่ใกล้เคียง เหมือนว่ามีความเป็นอิสระต่อกัน ต่างคนต่างปกครอง มีผู้นำและระบบระเบียบในแต่ละมืองของตน แต่เมื่อมีภัยอันตรายก็สามารถมารวมตัวกัน มาร่วมกันสู้รบและปกป้องดินแดน รวมถึงแสดงพลังความสามัคคี ร่วมต่อต้านข้าศึกศัตรูได้ทุกเมื่อ ลักษณะแบบนี้มีมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่การรวมตัวกันของแว่นแคว้นต่าง ๆ ในเมืองเหนือขึ้นเป็นราชอาณาจักรไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย สืบเนื่องต่อมาในการขยายอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยา ลงมาจนถึงการกอบกู้เอกราชในสมัยธนบุรี และการบูรณาการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เข้าด้วยกันเป็นรัฐไทยในสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ตั้งแต่ที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในพ.ศ. 2475 ระบบการปกครองในระดับบน ได้แก่ กลุ่มผู้มีอำนาจและกลไกการปกครองต่าง ๆ ตั้งแต่ระบบรัฐสภา ระบบราชการ ทหาร และพรรคการเมือง ก็ดูเหมือนกระจายตัวกันไปตามผู้นำของแต่ละสถาบันในแต่ละยุคสมัย แต่ก็สามารถมารวมกันได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่าง “เหลือเชื่อ” ดังที่มีคำกล่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของคนไทยว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ซึ่งเชื่อมโยงมาจากสมัยเบ้งเฮ็กนั่นแล้วว่า “คนไทยรักอิสระ แต่ก็แตกแยกได้ง่าย และรวมตัวกันได้เสมอ”

ขงเบ้งใช้กลอุบายต่าง ๆ ขับเคี่ยวกับเบ้งเฮ็กอยู่ถึง 7 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนแต่เป็นกลอุบายที่ขงเบ้งต้องการจะ “กลืนเบ้งเฮ็กทั้งเป็น” นั่นเอง ด้วยวิธีการที่แปลกประหลาดก็คือ ทุกครั้งที่ขงเบ้งรบชนะด้วยกลอุบายต่าง ๆ นั้น แม้จะสามารถจับกุมเบ้งเฮ็กได้ในทุกครั้ง แต่ก็ไม่เอาไปฆ่าหรือทรมาน แต่ขงเบ้งก็จะทำ “พิธีกรรมล้างทิฐิ” คือทำให้เบ้งเฮ็กหมดความเย่อหยิ่งลงไปในทุกครั้ง ด้วยการ “จัดเลี้ยงและกล่าวปราศรัย” ให้นายทหารและพลทหารในฝ่ายเบ้งเฮ็ก ค่อย ๆ หมดความเชื่อถือและศรัทธาในตัวเบ้งเฮ็ก นั่นก็คือสิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เรียกว่า “เบ้งเฮ็กถูกกลืนทั้งเป็น” คือไม่ตาย แต่หมดความมีตัวตน เป็น “ตัวอะไรก็ไม่รู้” ไปเลย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า เมื่อเบ้งเฮ็กยอมพ่ายแพ้แก่ขงเบ้งแล้ว สิ่งที่คนไทยทนไม่ได้ก็คือ “ความเป็นทาส” อย่างน้อยก็ในความรู้สึกที่หมดสิ้นเกียรติยศศักดิ์ศรีใน “ความเป็นไทย” คนไทยที่เหลือบางส่วนจึงอพยพลงมาทางใต้  ดังที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้บรรยายไว้บทสุดท้ายว่า

“หลังสงครามสามก๊กครั้งนี้แล้ว เราก็จูงมือกันทยอยเรื่อยลงมาทางใต้ ถึงที่ไหนเราก็สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นที่นั่น เมื่อที่ไม่พอที่จะรับพวกพ้องที่หนีความเป็นทาสลงมา เราก็เดินเข้าป่าไกลออกไปอีก สร้างเมืองขึ้นใหม่อีก ด้วยความพยายาม ด้วยความทรหดอดทน ฝ่าฟันอุปสรรค ป่าก็กลายเป็นเมือง ที่รกร้างว่างเปล่าก็กลายเป็นเรือกสวนไร่นา แลดูเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ ผลไม้ที่เป็นประโยชน์ จะแลดูข้าวสุกเหลืองเป็นทองไปสุดลูกหูลูกตา เลือดของคนไทยที่ได้หลั่งไหลลงบนพื้นแผ่นดิน เหงื่อทุก ๆ หยดที่ได้ร่วงลงไปนั้น เปรียบประดุจเมล็ดพืชอันวิเศษกลับงอกงามเจริญเติบโต ผลิดอกออกผลเป็นเมืองไทยที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

เบ้งเฮ็กตายไปแล้ว แม้เขาจะไม่ได้รับเกียรติบันทึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์อันใดของประเทศไทย แต่ในความเชื่อของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ได้อ่านเรื่องสามก๊ก อันถือได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งได้กล่าวถึงคนไทยคนนี้ไว้อย่าง “อัศจรรย์” ก็ควรค่าที่จะนำเรื่องราวของเขามากล่าวไว้ เพื่อยืนยันว่าแม้แต่จีนซึ่งเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ ก็ยังเชิดชูคนไทยอย่างเบ้งเฮ็ก ว่าแม้จะสิ้นเกียรติยศศักดิ์ศรี แต่ก็ไม่หมดสิ้นหนทาง ยังสามารถรวมตัวกันสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ จนกระทั่งเป็นชาติที่เชิดหน้าชูตา ไม่แพ้ชาติใด ๆ

อีกอย่างหนึ่งในเรื่องสามก๊ก ขงเบ้งแสดงให้เห็นว่า คนไทยนั้นต้องเอาชนะ “ด้วยใจ” เท่านั้น