หอการค้าไทย-จีน จับมือสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) จัดงานสัมมนา “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าไทย-จีน 2025” และแนะนำ “งานมหกรรมห่วงโซ่อุปทานนานาชาติของจีน (CISCE) ครั้งที่ 3”
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ นาย Ren Hongbin ประธานสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (CCPIT) จัดงานสัมมนา “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ไทย-จีน 2025” พร้อมแนะนำ “งานมหกรรมห่วงโซ่อุปทานนานาชาติของจีน (China International Supply Chain Expo : CISCE) ครั้งที่ 3” โดยได้รับเกียรติจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์กล่าวเปิดสัมมนา พร้อมด้วยนายเจียง เว่ย อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย; นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์;นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ;นายนฤชา ฤชุพันธ์ รองเลขาธิการบีโอไอ; นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน และนายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงุทน ไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-จีน มีความแน่นแฟ้นมายาวนาน มีความผูกพันหลายมิติ จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย เป็นเวลา 12 ปี ติดต่อกัน การขยายตัวทางการค้าระหว่างไทยและจีนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี FTA ร่วมกัน 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) นอกจากนี้ประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี และธุรกิจบริการ จึงมีความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมเสริมสร้าง “ซัพพลายเชน” ในภาคการผลิตของโลก
งานมหกรรมห่วงโซ่อุปทานนานาชาติของจีน (หรือ China International Supply Chain Expo – CISCE) ถือได้ว่าเป็นเวทีส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ และกลายเป็นเวทีระดับสูงสำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทั้งทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยหอการค้าไทย-จีน ได้นำคณะเข้าร่วมงาน CISCE ครั้งที่ผ่าน รู้สึกประทับใจและเห็นว่ามีประโยชน์ในทางธุรกิจเป็นอย่างมากด้วยผู้จัดงาน CISCE มีศักยภาพสูงที่สามารถนำผู้ประกอบการสาขาต่างๆ ทั้งจากประเทศจีนและนานาประเทศ เข้าร่วมงาน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานระดับนานาชาติให้มีความเข้มแข็งและสร้างโอกาสสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค
ประธาน CCPIT กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในปี 2568 จึงเป็นโอกาสอันดี ที่ได้นำคณะนักธุรกิจจีนกว่า 100 คน เดินทางมาประเทศไทยเป็นประเทศแรกเพื่อร่วมจัดสัมมนา “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ไทย-จีน 2025” พร้อมแนะนำ “งานมหกรรมห่วงโซ่อุปทานนานาชาติของจีน” การที่เลือกเดินทางมาประเทศไทยเป็นประเทศแรกในปีนี้ มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ (1) เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ด้วยจีนมีประชากรชั้นกลางถึง 500 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดกว่า 1,400 ล้านคน) จึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ; (2) เพื่อขยายการลงทุนระหว่างไทยและจีน เพื่อร่วมพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกัน ; และ (3) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานของบริษัทและวิสาหกิจไทยและจีน
สำหรับงาน CISCE ครั้งที่ 3 กำหนดที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กรกฎาคม 2568 ที่กรุงปักกิ่ง โดยได้คัดเลือกธุรกิจกว่า 40 แห่ง มาแสดงในงาน พร้อมการจัดสัมมนา ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ห่วงโซ่การผลิตสมัยใหม่ (Advanced Manufacturing); อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด (Clean Energy); ยานยนต์อัจฉริยะ (Smart Vehicle) เน้นการใช้พลังงานสีเขียว 100%; เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology); ชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี (Healthy Life) เป็นส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพรจีน ที่ขยายความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานกับบริษัทต่างชาติชั้นนำ; และเกษตรกรรมสีเขียว (Green Agriculture) นอกจากนี้ยังมีโซนจัดแสดงการให้บริการด้านห่วงโซ่อุปทาน แบ่งตามหมวดหมู่ เช่น บริการด้านการขนส่งทางเรือ เป็นต้น ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ www.cisce.org.cn
ในโอกาสนี้ ทาง CCPIT ได้ร่วมลงนามเอ็มโอยู 5 ฉบับกับ หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ หอการค้าไทย-จีน หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจไทย-จีน และ เครือ CP เพื่อส่งเสริมการเข้าร่วมงาน CISCE ครั้งที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม ศกนี้ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน