องค์ บรรจุน ผู้เชี่ยวชาญด้านมอญศึกษา โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำ หนังสือ "นิพิทนัยศัพท์อักษร (On Contemplating Words and Meanings): หนังสือเล่มนี้ปลอดภัยไม่มีตำรวจภาษาไทย" โดยระบุว่า ปรัชญา ปานเกตุ (2568) เขียนไว้ในคำนำ และผมก็เห็นด้วย ผมจึงอ่านต่อ (You are what you eat / You eat what you want to eat)
"ธรรมชาติแห่งภาษาก็เป็นเช่นเดียวกับสรรพสิ่งทั้งปวง คือมีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา การยอมรับถ้อยคำภาษาที่เกิดขึ้นใหม่ ก็หมายถึงความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงแห่งโลกอันไม่หยุดนิ่งนั้นด้วย"
ในเล่มนี้จึงเก็บรวมอธิบายศัพท์ภาษาของยุคสมัยไว้ถึง 50 คำ เช่น —- ตัวตึง ท้องทิพย์ จะแล้วไหม ทำถึงมาก เต็มคาราเบล หยุมหัว พักก่อน… เทสที่สร้าง ร่างที่เป็น อย่าหาทำ โดนตกเต็มๆ และ คือดีย์ย์ย์ เป็นต้น
(จะว่าไป "คือดีย์ย์ย์" ก็เป็นไวยากรณ์แบบที่มอญใช้มาเป็นพันปีแล้ว เพราะมอญไม่ใช้ไม้ยมก หากต้องการซ้ำคำก็เขียนตัวแม่สะกดกับเครื่องหมาย “ฮะจ่อด” (ฑัณฑฆาต) ซ้ำเข้าไป เช่น မိပ်ပ် อ่านซ้ำว่า หมิบ หมิบ แปลว่า สนุก สนุก)
มนุษย์สร้างภาษาเพื่อการสื่อสาร ตัวชี้วัดการสื่อสาร (KPI) คือสัมฤทธิ์ผลของการสื่อสาร แม้การสื่อสารจะมีวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง มนุษย์จึงมีศิลปะและวัฒนธรรมในการใช้ภาษาหลายแบบ เช่น คุยกับฝรั่งทั่วไปก็ใช้ "dog" ถ้าเป็นฝรั่งกวีใช้ "Canine" คุยกับเพื่อนใช้ "หมา" คุยกับพระสังฆราชใช้ "สุนัข" คุยกับพ่อแม่คนที่บ้านใช้ "เกลอ / กลอ" (ကၠဵု) คุยกับคนแต้จิ๋วใช้ "เก๋า" หรือคุยกับลูกศิษย์ ใช้ "น้อนน" เป็นต้น
ถ้าตำรวจภาษาไทย หรือคนที่ไม่เข้าใจ แสดงว่า คุณไม่ใช่ผู้รับสารที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อสารด้วย นั่นคือ ผู้สื่อสารกำลังสื่อสารกับยุคสมัย ไม่ได้สื่อสารกับยุคสมัยซึ่งพ้นยุคพ้นสมัยไปแล้ว
ภูมิใจมากที่ได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ และดีใจที่สามารถรับสารจากผู้ส่งสารอย่างเข้าใจลู้เลื่องดีย์ย์ย์ฮะ
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก องค์ บรรจุน