Copayment ดูเหมือนผู้คนในบ้านเราจะให้ความสนใจเวลานี้อย่างต่อเนื่องทีเดียว หลังจากมีความเห็นหลากหลายแง่มุมมองกันออกมาเป็นประเด็นดราม่าในโลกโซเขียลฯปัจจุบัน
ล่าสุดวันนี้(21 ม.ค. 2568 )- นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า
ทางออกของ copayment ในสถานการณ์ปัจจุบัน
ข่าวบริษัทประกันชีวิตพร้อมใจกัน จะออกกรมธรรม์ที่พ่วงเงื่อนไขการร่วมจ่าย (copayment) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2568 นี้ ถือว่าสั่นสะเทือนวงการประกันภัยพอสมควร
ผู้บริโภคเหมือนถูกมัดมือชก อยู่ในสภาวะที่จำยอม และถามหาว่าหลักการที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องของการให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้มีความยับยั้งชั่งใจในการใช้บริการของโรงบาล เลือกใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ
ไม่เช่นนั้น ค่าสินไหมการรักษาพยาบาลจะพุ่งพรวดโดยเฉลี่ยปีละ 12% อย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นอย่างนี้ ทุก 6 ปี ค่าสินไหมรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นป็น 2 เท่าตัว ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น จนเบี้ยประกันที่คำนวณไว้ล่วงหน้า ไม่สามารถครอบคลุมสินไหมที่เกิดขึ้น จนบริษัทประกันชีวิตต้องออกมาเคลื่อนไหวในตอนนี้
ผมจึงขอเสนอทางออกที่เป็นกลาง ที่เหมาะสมกับสภาวะการณ์ปัจจุบัน ดังนี้คือ
1. กรมธรรม์ที่มีเงื่อนไขร่วมจ่าย 30% ในปีต่ออายุ ต้องลดเบี้ยประกันให้ลูกค้า 30% ด้วย
ตามที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้ออกประกาศมา แจ้งเงื่อนไขที่จะให้ลูกค้าร่วมจ่ายสินไหม 30% และ 50% สำหรับคนที่เรียกร้องสินไหมถี่และสูงเกินไปนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ผมคิดว่าการที่บริษัทประกันชีวิตจะออกมาตรการเหล่านั้นออกมา บริษัทต้องลดเบี้ยประกันให้ในจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากัน ซึ่งในกรณีนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ว่าเกิดจากการรักษาใดๆ ค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ทั้งโรคทั่วไป การผ่าตัดหรือโรคร้ายแรง ลูกค้าต้องร่วมจ่าย 30% หรือ 50% เสมอ ตามหลักการประกันภัยร่วมกัน (coinsurance) ต่างคนต่างรับผิดชอบในส่วนของตัว
แต่ถ้าเมื่อไร ที่ค่าสินไหมน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ปีถัดไป บริษัทต้องกลับมาคุ้มครองและคิดเบี้ยประกันตามเกณฑ์ปรกติ ถือเป็นการแจกใบเหลืองเหมือนกับเกมฟุตบอล
2. ออกกรมธรรม์ใหม่ที่ต้องร่วมจ่าย 10%ในทุกการรักษา ตั้งแต่ปีแรก
ในระยะยาว ทุกกรมธรรม์จะถูกบังคับให้ผู้ประกันภัยต้องมีส่วนร่วมจ่าย เพราะถ้ายังเป็นโครงสร้างที่เบิกฟรีได้ทั้งหมด จะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า buffet effect เมื่อไม่ต้องควักกระเป๋า ก็เบิกไว้ก่อน และเบิกไม่อั้น
แต่ในระยะเปลี่ยนผ่าน ยังคงมีกรมธรรม์ที่ให้เบิกได้เต็ม 100% ตามข้อ 1 แต่มีเบี้ยประกันที่สูงกว่า โดยกรมธรรม์ที่เบิกได้ 100%นั้น ทุก 5 ปี ให้ทุกบริษัทสามารถทบทวน (review) เบี้ยประกันภัยใหม่ เพื่อนำข้อมูลมาเป็นฐานในการออกกรมธรรม์รุ่นใหม่ ให้เหมาะสมกับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น (ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มข้นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)
ส่วนกรมธรรม์ที่ลูกค้าซื้อไปแล้ว ให้ใช้โครงสร้างเบี้ยประกันเดิม ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนที่มีกำลังจะซื้อประกันสุขภาพ ต้องซื้อไว้แต่เนิ่นๆ มิฉะนั้นแล้ว กรมธรรม์ที่จะซื้อรุ่นหลัง จะมีโครงสร้างเบี้ยประกันที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อ แนวคิดนี้จะช่วยลดภาระของรัฐบาล โดยให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อได้ดูแลตัวเองให้เร็วที่สุด
ส่วนกรมธรรม์ที่เป็นลักษณะร่วมจ่ายในข้อ 2 นี้ ต้องมีส่วนลดเบี้ยประกันสูงกว่าเปอร์เซ็นต์ร่วมจ่าย 10% เสมอ เช่น ถ้าให้ลูกค้าร่วมจ่าย 10% เบี้ยประกันควรจะถูกลง 20%
เพราะจากสถิติในสิงคโปร์พบว่าลูกค้าที่ร่วมจ่าย จะมีความยับยั้งชั่งใจและช่วยตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็น ทำให้สินไหมค่ารักษาลดลงถึง 30%
หากเราใช้โมเดลนี้ตามสิงคโปร์ ทุกการรักษาพยาบาลรวมถึงการผ่าตัดและโรคร้ายแรง ลูกค้าจะต้องร่วมจ่าย 10% เสมอ แต่ให้มีเพดานสำหรับการร่วมจ่ายเพียง 100,000 บาทต่อปีกรมธรรม์ หากลูกค้าร่วมจ่ายครบ 100,000 บาทแล้ว ส่วนที่เกินนี้ บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบทั้งหมด (ในประเทศสิงคโปร์มีเพดานร่วมจ่าย 3000 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 75,000 บาท)
หากปีต่อๆมา อัตราการเบิกสินไหมค่ารักษาพยาบาลยังไม่ลดลง และทำให้พอร์ตค่ารักษาพยาบาลของบริษัทประกันชีวิตยังคงติดลบอยู่ ขณะที่ประชาชนเริ่มเข้าใจสภาวการณ์มากขึ้นแล้ว บริษัทประกันชีวิตอาจจะมีข้อตกลงร่วมกันที่จะให้เพิ่มอัตราเปอร์เซ็นต์การร่วมจ่ายเป็น 20% แลกกับการลดเบี้ยประกันภัยให้ลูกค้าเป็น 30% เพื่อให้ลูกค้าดูแลตัวเองมากขึ้นไปอีก (คือออกกรมธรรม์เป็นเวอร์ชั่นใหม่ขึ้นมาอีก)
หรืออีกแนวทางคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ คปภ. อาจจะออกประกาศมาให้เปิดเสรีเบี้ยประกันภัย บริษัทไหนที่คิดว่ายังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ก็ให้ลูกค้าร่วมจ่าย 10% ส่วนบริษัทไหนที่มีผลขาดทุนมาก ก็ออกผลิตภัณฑ์ร่วมจ่าย 20% เปิดแข่งขันแบบเสรีไปเลย
เท่าที่ทราบ ประเทศสิงคโปร์ก็มีแผนที่จะปรับเพิ่มอัตราการร่วมจ่ายจาก 10% เป็น 20% เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนพยายามดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด และเตรียมเงินสำรองสำหรับการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยการนำเงินที่ได้รับส่วนลดไปลงทุนเอง เพื่อเตรียมค่าใช้จ่ายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะในข้อที่ 1 ผมมีความกังวลเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่อาจจะจ่ายเบี้ยประกันมายาวนาน 30-40 ปี และที่ผ่านมามีการเบิกค่ารักษาพยาบาลน้อยมาก แต่ในบั้นปลายของชีวิตอาจจะ 2-3 ปี สุดท้าย ต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมาก อาจจะได้รับผลกระทบจากการถูกบังคับให้ร่วมจ่ายถึง 30% ซึ่งไม่ยุติธรรมสำหรับเขา ก็ควรคำนึงถึงคนเหล่านี้ด้วย
เพราะหลักของการประกันภัยคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข พวกเขาร่วมลงขันมายาวนาน พอถึงวันที่เขาจะได้ใช้สิทธิ์ กลับถูกลงโทษ
ในระบบประชาธิปไตย เราไม่ควรละเลยคนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเราหาทางออกให้พวกเขาได้ เราก็ควรจะทำครับ
ผมเชื่อว่าแนวทางเหล่านี้ จะเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทำให้ระบบการประกันภัยเดินหน้าไปได้ โดยที่ผู้บริโภคยังได้รับการดูแลแบบยุติธรรมครับ