เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรม Kick off คนไทยห่างไกล NCDs  “NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม.” พร้อมบรรยาย “รู้จักคาร์บ รู้จักนับ ปรับสมดุล ควบคุมเบาหวาน” โดยมีนายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ภก.วีระชัย นลวชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 10  และนพ.ทนง วีระแสงพงษ์   สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ  นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและอสม.จาก 22 อำเภอของจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 2,300 คน. เข้าร่วมในพิธีเปิดมหกรรมในครั้งนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งการกินอาหารไม่เหมาะสมและขาดการออกกำลังกาย จึงได้กำหนดนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้กลไก อสม. ช่วยดูแลสุขภาพเบื้องต้นของคนในพื้นที่ เพื่อช่วยลดอัตราการป่วย และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศได้ในระยะยาว ควบคู่ไปกับการจัดตั้งคลินิก NCDs Remission ในโรงพยาบาลทุกระดับ และจัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs อำเภอละ 1 แห่ง ก่อนขยายให้ครอบคลุมครบทุกตำบล เพื่อช่วยแนะนำดูแลประชาชนจากโรค NCDs “ต้องชื่นชม จ.ศรีสะเกษ นอกจาก อสม. ทั้งหมด 27,787 คน จะเรียนรู้การนับคาร์บได้ครบ 100% แล้ว ยังบอกต่อชาวศรีสะเกษให้นับคาร์บได้อีก 541,629 ราย มีศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอครบทั้ง 22 อำเภอ และศูนย์ NCDs Remission ในโรงพยาบาล ครบทั้ง 22 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำประชาชนลดคาร์บใน รพ.สต.ทุกแห่ง รวมถึงมีสถานีสุขภาพประจำหมู่บ้าน หรือ Health Station ในทุกหมู่บ้าน โดยล่าสุดในปี2567 โรงพยาบาลบึงบูรพ์มีสัดส่วนของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ถึง 70 % ซึ่งมากที่สุดในประเทศด้วย” 


ด้าน ภก.วีระชัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกล NCDs ในวันนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ในการดำเนินงาน พัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงอสม. ให้มีความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงาน ตลอดจนพัฒนาระบบบริการด้านการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง โดยมี อสม. เข้าร่วมงานกว่า 2,300 คน.  ทั้งนี้เพื่อให้คนไทยห่างไกลโรค และภัยสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทุกมิติและวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ  ลดโรคไม่ติดต่อที่สำคัญ (NCDs) พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการให้เอื้อต่อการควบคุม ดูแลส่งเสริมสุขภาพ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการด้านการป้องกัน และควบคุมการเกิดโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการให้ความรู้แก่ประชาชน ในเรื่องNCDs และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน ตาม นโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างต่อเนื่องต่อไป