"ภูมิธรรม" สั่งเข้มล้างสีเทา กำชับกองกำลังป้องกันชายแดนช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในฝั่งเมียวดี มุ่งบูรณาการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านชายแดนอย่างจริงจัง บนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม
วันที่ 20 ม.ค.68 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานข้ามชาติบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดปัญหาที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านมนุษยธรรม ความมั่นคง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กห. ได้ระบุว่า เมืองเมียวดีได้กลายเป็นศูนย์กลางแรงงานข้ามชาติจาก 21 ประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เดินทางตรงจากประเทศต้นทางไปยังกรุงย่างกุ้ง ก่อนจะเดินทางต่อมายังเมียวดี เนื่องจากได้รับคำเชิญชวนผ่านช่องทางออนไลน์หรือเครือข่ายนายหน้าที่เสนอค่าตอบแทนสูงและโอกาสทำงานที่ดูน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม แรงงานบางส่วนเลือกเดินทางผ่านประเทศไทย โดยใช้เส้นทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ไปยังแม่สอด ซึ่งมีทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและผู้ที่ลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เมืองเมียวดีเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมจากกองกำลังหลายฝ่ายในการดูแลธุรกิจขนาดใหญ่หลายพันล้านบาทที่ดำเนินการโดยชาวจีนและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ส่งผลให้แรงงานที่เดินทางเข้าไปต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐาน ถูกควบคุมเข้มงวด และไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่คาดหวัง แรงงานจำนวนมากพยายามหลบหนีออกจากพื้นที่ แต่การหลบหนีเหล่านี้สำเร็จได้เพียงบางส่วน หนึ่งในเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นในคืนวันที่ 18 มกราคม 2568 ชาวอินโดนีเซียจำนวน 32 คนสามารถหลบหนีข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทยได้สำเร็จ โดยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ที่ส่งตัวแรงงานทั้งหมดให้ตำรวจในพื้นที่แม่สอดเพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าในจำนวนนี้ 12 คนเคยเดินทางผ่านสนามบินดอนเมืองในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2567 โดย 8 คนเดินทางต่อจากกรุงเทพฯ มายังแม่สอดผ่านเส้นทางบก ส่วนอีก 20 คนไม่พบข้อมูลการเดินทางผ่านเข้าประเทศไทย
โดยปัจจุบันกลุ่มคนเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการการปฎิบัติงานส่งต่อระดับชาติ (NRM-National Referral Mechanism) การบริหารจัดการคดีและการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการกับ งานตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด จว.ตาก ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ร้อยอาสาสมัคร อำเภอแม่สอด เพื่อทำการซักถามของทีมสหวิชาชีพอันประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาขั้นตอนการซักถามขั้นต่ำประมาณ 20 วันโดยจะมีการซักถามเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศจะเข้ามาดูแลเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการส่งกลับประเทศอินโดนีเซียต่อไป
สำหรับการปฎิบัติหน้าที่ของหน่วยเฉพาะกิจราชมนู รับผิดชอบดูแล ในอำเภอแม่สอด ได้ดำเนินการลาดตระเวนในพื้นที่โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติ และการติดป้ายประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางข้ามไปยังฝั่งจังหวัดเมียววดี โดยในห้วง3เดือนที่ผ่านมามีการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเดินทางข้ามแดนมายังฝั่งไทย ได้ทั้งสิ้นประมาณ 700 คน ประกอบด้วย 21 สัญชาติได้แก่พม่า จีน ศรีลังกา อินโดนีเซีย และประเทศทางแถบแอฟริกา
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ย้ำว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ได้กำหนดมาตรการที่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและผลประโยชน์สีเทาในพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการควบคุมการลักลอบเข้าเมือง การป้องกันการค้ามนุษย์ การตรวจสอบเส้นทางการเดินทางของผู้เข้าเมือง และการสกัดกั้นการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์ผิดกฎหมายในพื้นที่ชายแดน
พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สถานเอกอัครราชทูต องค์กรสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานรักษาความปลอดภัย เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ประสบปัญหาเป็นไปตามมาตรฐานสากล รัฐบาลจึงมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเร่งรัดการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงลึกและสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและปลอดภัยสำหรับแรงงาน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ชายแดน
ทั้งนี้ นายภูมิธรรมยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่เพียงช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในบทบาทของประเทศไทยในด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงในภูมิภาคอีกด้วย