วันที่ 20 ม.ค.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กระทรวงมหาดไทย (มท.)ว่า นายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เซ็นเพิกถอนการจดทะเบียนฯและนิติกรรมต่างๆ ในที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์แล้ว ตั้งแต่วันที่16 ม.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินดำเนินการต่อไป

สำหรับขั้นตอนจากนี้ กรมที่ดินจะต้องดำเนินการตาม 4 ขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กรมที่ดินจะต้องดำเนินการแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน พร้อมแจ้งสิทธิการฟ้องคดีให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ

2.กรมที่ดินแจ้งจังหวัดปทุมธานี เพื่อให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง ดำเนินการหมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและขายรวมสองโฉนด ในโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอดจนรายการจดทะเบียนลำดับต่อมา รวมทั้งเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงแยกที่ออกสืบเนื่องมาจากโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมทุกรายการ ในโฉนดที่ดินแปลงแยกนั้นด้วย ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308 /2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและวิธีการ

3.เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาคลองหลวง หมายเหตุการเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดิน และขายรวมสองโฉนดแล้ว จะมีผลให้โฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี กลับมาเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้ามรดก มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก สามารถจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร โดยดำเนินการขอได้มาซึ่งที่ดิน ตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

4.เมื่อที่ดินตกเป็นของวัดธรรมิการามวรวิหารแล้ว วัดสามารถนำที่ดินดังกล่าว ให้ผู้ครอบครองคนปัจจุบันเช่า หรือออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ เพื่อโอนสิทธิให้แก่ผู้ครอบครองคนปัจจุบัน หรือโอนที่ดินโดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ นร 0601/908 ลงวันที่ 1 เมษายน 2545 ข้อ 6

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2544 สามารถใช้สิทธิยื่นคำฟ้อง พร้อมขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองต่อศาล หรือยื่นคำขอให้กระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดิน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กรมที่ดิน ได้เคยประเมินค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นโดยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน 2567 โดยมูลค่าตามราคาตลาดโดยการประมาณและทุนทรัพย์จำนองอยู่ที่ 7,700 ล้านบาท แบ่งเป็นทรัพย์ตามมูลค่าตลาดประมาณ 7,228 ล้านบาท และทุนทรัพย์จำนอง 439.05 ล้านบาท 

ปัจจุบัน เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินอัลไพน์ มีจำนวน 533 ราย และผู้รับจำนองอีก 30 ราย

ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อที่ดินมาปี 2540 ในราคาประมาณ 500 ล้านบาท ต่อจาก นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ และ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง ขณะนั้นที่ซื้อมา 130 ล้านบาท จากวัดธรรมิการามวรวิหาร อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อ 20 พ.ย. 2512

ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการกรณีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ภายหลังจากนายชํานาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เซ็นเพิกถอนให้กลับคืนแก่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้ามรดก มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ในฐานะผู้จัดการมรดก ที่มอบให้วัดธรรมิการามวรวิหารแล้วว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่อง คาดว่าเอกสารจะมาถึงภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งยกเลิกเพิกถอนของกรมที่ดินที่เสนอเรื่องไป

เมื่อถามว่า ผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้หรือไม่ นายพรพจน์ ระบุว่า มีขั้นตอนดำเนินการอยู่ หากเรื่องมาถึงกรมฯ สิ่งแรกที่ต้องทำ จะดำเนินการแจ้งให้ผู้ถือครองที่ดินทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้สูญเสียรับทราบคำสั่งเพิกถอนดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรเป็นสิทธิ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เมื่อถามย้ำว่า หากมีการฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย ซึ่งตามราคาประเมินสูงถึง 7.7 พันล้านบาท จะนำงบส่วนไหนมาจ่ายค่าชดเชย อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง รวมถึงอยู่กับคำตัดสินของศาลว่ามีผลอย่างไร ซึ่งจากรายละเอียดและหลักฐานค่อนข้างเยอะ คาดว่าการฟ้องร้องจะต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งนี้ ตามหลักการในเรื่องงบประมาณของระบบราชการ หากไม่มีแผนงานโครงการรองรับไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ เพราะกรมฯ ไม่ได้ตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ อาจมีการขอในแผนงานงบประจำปี แต่ถึงอย่างไรขณะนี้ยังไม่สามารถตอบชัดเจนได้

เมื่อถามว่า กรมที่ดินกังวลหรือไม่เมื่อผลออกมาเช่นนี้นั้น นายพรพจน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกรมฯ นำเสนอไปเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำตอนนี้ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่าหากมีการลงนามเพิกถอนในหนังสือ กรมฯ จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง ซึ่งต้องเป็นเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย

เมื่อถามว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง เชื่อมโยงกับกรณีเขากระโดงใช่หรือไม่ อธิบดีกรมที่ดิน ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเป็นเรื่องที่เสนอมากกว่า 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่ากระทรวงฯ มีข้อสังเกตและข้อซักถามที่เป็นประเด็นที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาหลายประเด็น แล้ววันนี้เมื่อไม่มีข้อสงสัยจึงเซ็นเพิกถอน

เมื่อถามว่า หลังจากมีการลงนามเพิกถอนแล้วนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ว่าอย่างไรบ้างในเรื่องนี้ นายพรพจน์ กล่าวว่า นายอนุทิน เน้นย้ำให้กรมที่ดินดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่างในทุกเรื่อง ไม่มีข้อสั่งการอะไรเป็นพิเศษ

เมื่อถามย้ำว่า กังวลเรื่องนี้หรือไม่ เพราะอาจเป็นเผือกร้อนทางการเมือง อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า เป็นหน้าที่ที่กรมต้องปฏิบัติ เพียงแต่ว่าระยะเวลาอาจประจวบเหมาะกัน แต่ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมาย