วันที่ 20 ม.ค.2568 เวลา 08.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีการพูดคุยกัน หากร่างที่ผ่าน ครม.มาชัดเจน และรัฐบาลตัดสินใจว่าจะเสนอเข้าสภาพรรคถึงจะมีการคุยกันว่าจะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร และต้องรอความชัดเจนด้วยว่าสุดท้ายรัฐบาลจะตัดสินใจเอาเข้าสภาหรือไม่ และต้องทำประชามติเพราะ 1. ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมาก 2. ประชาชนมีความเห็นต่าง ฝ่ายหนึ่งเห็นด้วยอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย 3. พรรคการเมืองไม่ได้หาเสียงมาก่อนว่าจะทำคาสิโน อาจจะพูดกว้างๆ แต่ไม่ได้ระบุชัดว่าจะทำคาสิโนเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน เพราะฉะนั้นข้อยุติที่ดีที่สุด คือการทำประชามติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า เห็นด้วยที่จะให้ทำหรือไม่ ซึ่งเป็นทางออกที่ตนคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลเองที่จะได้มีความชอบธรรมถ้าประชาชนเห็นด้วย ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็ยกเลิกได้ เพราะเป็นรัฐบาลในวิถีทางประชาธิปไตยที่ควรรับฟังเสียงประชาชน เพราะบางประเทศก็ใช้ประชามติในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของบ้านเมือง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบในวงกว้าง จึงคุ้มค่าที่จะทำประชามติ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
“ภาพรวมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ผมคิดว่าแรงต่อต้านไม่มี แต่ประเด็นใหญ่คือคาสิโน เพราะถ้าจะทำเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ คิดว่าประชาชนไม่ขัดข้องอะไร ฝ่ายที่ต่อต้าน ส่วนใหญ่เท่าที่รับฟังก็ไม่ได้คัดค้าน เพราะการทำศูนย์การค้า ทำร้านอาหาร การทำแหล่งบันเทิง ก็มีอยู่แล้วในประเทศเรา ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แต่สิ่งที่จะเป็นประเด็นที่เป็นความเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่คือ คาสิโน” นายจุรินทร์ กล่าว
เมื่อถามว่าถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสภา ประชาธิปัตย์ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล จะโหวตอย่างไร นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกันในพรรคก่อน ขอดูหน้าตาของร่างว่าออกมาเป็นอย่างไร รายละเอียด เงื่อนไขเป็นอย่างไร และเมื่อไปคุยในพรรคแล้วในภาพรวมพรรคมีความเห็นอย่างไร
เมื่อถามว่า การทำประชามติแต่ละครั้งใช้งบประมาณกว่า 3 พันล้าน จะคุ้มหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคุ้มค่า เพราะความเสียหายถ้าเทียบไปแล้วกับ 2-3 พันล้าน หากเกิดความเสียหายจะมากกว่านี้ จะเป็นความเสียหายมหาศาล โดยเฉพาะปัญหาทางสังคม และผลกระทบทางเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเป็นห่วง “เพราะฉะนั้นเพื่อหาข้อยุติสำหรับทุกฝ่าย เป็นทางออกที่ดี ซึ่งเราก็มีกฎหมายประชามติ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประชามติ ก็เพื่อให้เปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และให้ฝ่ายต่างๆได้ถามประชาชนในประเด็นที่คิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา แต่สามารถทำได้ ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอและเป็นความเห็น รัฐบาลจะรับฟังหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ หรือฝ่ายต่างๆจะเห็นด้วยหรือไม่ก็แล้วแต่