สวนทางแตกต่างอย่างชนิดอยู่คนละขั้ว ยืนคนละข้าง กับ “สุขบัญญัติแห่งชาติ” ที่คนไทยเราท่องติดปากกันมาตั้งแต่เด็กว่า 1 ใน 10 ข้อของสุขบัญญัติแห่งชาตินั้น ระบุว่า งดดื่มชา กาแฟ แล้วให้ดื่มน้ำสะอาดมากๆ 8 – 10 แก้วต่อวัน เพื่อสุขภาพพลามัยที่ดี

Photo : AFP

เมื่อนักวิชาการด้านโภชนาการยุคใหม่จำนวนหนึ่ง ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของการดื่มชา กาแฟ ต่อสุขภาพของผู้ดื่มกันอยู่เป็นระยะๆ

ยกตัวอย่างในการศึกษาวิจัยก่อนหน้า โดยโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ เมืองซอลต์เลกซิตี รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การดื่มชา กาแฟ อาจจะช่วยผู้ดื่ม ลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งที่พบบ่อย (Common cancer) ในประชากรทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนศีรษะและคอ ซึ่งโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะทั้งสองส่วนนี้ ตามสถิติข้อมูลเมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) ระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวนมากกว่า 745,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 364,000 ราย

ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยจากโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ ได้ติดตามกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มกาแฟวันละ 4 แก้วหรือมากกว่านั้น กับกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดีที่ไม่ดื่มกาแฟ

ต้นกาแฟที่กำลังออกเมล็ด (Photo : AFP)

ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างมีอัตราความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็วบริเวณอวัยวะศีรษะและคอ ต่ำกว่าร้อยละ 17 และอัตราต่ำกว่าร้อยละ 30 สำหรับมะเร็งบริเวณปาก รวมถึงร้อยละ 22 ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณช่องคอ

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มกาแฟ 3 – 4 แก้วต่อวัน ปรากฏว่า ช่วยลดอัตราความเสี่ยงป่วยด้วยโรคมะเร็งบริเวณคอหอยส่วนล่างได้ถึงร้อยละ 41 และกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มชา ก็จะลดอัตราความเสี่ยงโรคมะเร็งบริเวณนี้ได้ราวร้อยละ 29

เมล็ดกาแฟ (Photo : AFP)

คณะผู้ศึกษาวิจัยจากโรงเรียแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ ยังระบุด้วยว่า สารคาเฟอีนที่อยู่ในชาและกาแฟ ไม่น่าจะมีผลต่อทำให้ผู้ดื่มมีอัตราความเสี่ยงต่ำที่จะป่วยด้วยโรคมะเร็ง เพราะในการวิจัย ยังได้ศึกษาติดตามจากกลุ่มตัวอย่งที่ดื่มกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน หรือคาเฟอีนถูกทำให้ลดลงจนเหลืออยู่น้อยเต็มที ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ดื่มก็มีอัตราความเสี่ยงป่วยด้วยโรคมะเร็งบริเวณปากลดลงที่ร้อยละ 25

ทางด้าน กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มชา 1 แก้วต่อวัน หรือน้อยกว่านั้น ปรากฏว่า ช่วยลดอัตราความเสี่ยงป่วยโรคมะเร็งบริเวณศีรษะและคอได้ที่ร้อยละ 9 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มชามากกว่า 1 แก้วต่อวัน กลับมีความเสี่ยงที่จะป่วยโรคมะเร็งบริเวณลำคอ หรือช่องคอ ที่ร้อยละ 38 ทั้งนี้ เหล่านักวิจัย ตั้งข้อสงสัยว่า ชาอาจจะไปช่วยเพิ่มความกรดในผู้ดื่มที่มีปัญหาเรื่องภาวะกรดไหลย้อนภายในช่องบริเวณลำคอของผู้นั้นก็เป็นได้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยข้างต้น ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารโรคมะเร็ง เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นมา

“กาแฟ” หนึ่งในเครื่องดื่มยอดฮิตของชาวโลก แม้ในหมู่ผู้นำประเทศระดับโลก (Photo : AFP)

ตามมาด้วยผลการศึกษาวิจัยโดยคณะแพทย์ของโรงพยาบาลเด็กเบนิออฟของซานฟรานซิสโก แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระบุว่า สารคาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟ อาจส่งผลดีต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ที่จะเกิดใหม่ โดยจะช่วยป้องกันการเกิดโรคสมองพิการของเด็กทารกเกิดใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังคลอดได้

โดยโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ในเด็กทารกเกิดใหม่หลังคลอดข้างต้นนั้น ก็เป็นผลจากการเด็กทารกฯ มีภาวะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายในระดับรุนแรงอันเกิดจากการหายใจผิดปกติ

ทั้งนี้ โรคสมองพิการ ก็เป็นโรคทางระบบประสาท ทำให้เกิดความบกพร่องทางด้านกล้ามเนื้อ ท่าทาง การเคลื่อนไหวทางร่างกายต่างๆ เนื่องจากสมองได้รับความเสียหาย

ก่อนหน้านี้ ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยจากสถาบันดังกล่าว ก็ยังเคยพบว่า สารคาเฟอีนนั้น สามารถช่วยกระตุ้นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในทารกได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยได้แนะนำว่า ยังต่อศึกษากันต่อไป ซึ่งจะส่งผลดีต่อการป้องกันโรคสมองพิการในเด็กทารก โดยโรคนี้แต่ละปี พบมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มประเทศยากจน

ล่าสุด วารสารโรคหัวใจแห่งยุโรป ก็ได้รายงานเกี่ยวกับประโยชน์ของกาแฟที่มีต่อผู้ดื่ม ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยทูเลน เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ประเทศสหรัฐฯ

โดยผลการศึกษาวิจัย ระบุว่า การดื่มกาแฟอาจช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิต หรือตายก่อนวัยอันควรให้แก่ผู้ดื่มที่เป็นวัยผู้ใหญ่ ซึ่งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรข้างต้น ก็มาจากสาเหตุของโรคต่างๆ รวมถึงโรคหัวใจด้วย

อย่างไรก็ตาม ในศึกษาวิจัย ก็เปิดเผยด้วยว่า การดื่มกาแฟดังกล่าว ก็จะต้องมีช่วงเวลาของการดื่มด้วยเช่นกัน นั่นคือ ควรดื่มในช่วงเวลาเช้า โดยระบุเวลาว่า อยู่ในระหว่าง 04.00 น. ถึงเวลา 11.59 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ยิ่งกว่าการดื่มในช่วงเวลาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในช่วงหลังเที่ยงวันถึงเวลาเย็น และช่วงเวลาดึกตั้งแต่ 23.00 น. ไปจนถึงก่อนตี 4 หรือ 4 นาฬิกา

นอกจากนี้ ปริมาณการดื่ม ก็อยู่ที่ราวๆ 2 – 4 แก้วต่อวันเท่านั้น จึงจะส่งผลดีต่อสุขภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดื่มกาแฟ และผู้ที่ดื่มกาแฟมากเกินไประดับตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้ ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยได้ติดตามในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40,000 คน ในระหว่างช่วงปี 1999 – 2018 (พ.ศ. 2542 – 2561)

อย่างไรก็ตาม แม้ผลการศึกษาวิจัยที่ออกมานี้มีความน่าสนใจ แต่ก็ต้องมีศึกษาวิจัยเพิ่มเติมกันอีก

กาแฟถูกนำไปปรุงแต่งด้วยส่วนผสมต่างๆ จนกลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตหลากหลายรูปแบบ (Photo : AFP)

รวมถึงบรรดานายแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ก็แนะนำว่า หากจะดื่มกาแฟ โดยเฉพาะในหมู่คนเอเชีย ที่มีรูปร่างทางร่างกายเล็กกว่าชาวตะวันตก ก็ควรจะต้องลดปริมาณกาแฟลงมาเพื่อความปลอดภัย ตลอดจนผู้ที่ไม่เคยดื่มกาแฟ หากต้องการจะดื่มเพื่อให้ได้ประโยชน์ดังกล่าว ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้ดื่มเช่นกัน ร่างกายของเราเหมาะกับกาแฟ และหรือเหมาะกับสารหลายอย่างในกาแฟหรือไม่ เช่น สารคาเฟอีน เป็นต้น เพราะกาแฟไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน แต่อาจจะเกิดโทษต่อผู้ดื่มก็ได้ เช่น ทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ เป็นต้น แบบเข้าทำนองที่ว่า ลางเนื้อชอบลางยา ตามสำนวนไทยเรา