30 รักษาทุกที่ ด้วย “ร้านยาคุณภาพของฉัน” รับบริการกับเภสัชกรที่ร้านยา ครอบคลุม 32 กลุ่มอาการพร้อมติดตามอาการ 2 ปี มีประชาชนรับบริการแล้ว 2.04 ล้านคน 

วันที่ 19 ม.ค.68 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “ร้านยาคุณภาพของฉัน” เป็นหนึ่งในหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท เพื่อร่วมให้บริการ “30 บาทรักษาทุกที่” ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง โดยมีจุดเริ่มต้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ร้านยาได้ร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยให้เข้าถึงการรักษาและติดตาม โดยความร่วมมือระหว่าง สปสช. กับสภาเภสัชกรรม และนำมาสู่การเพิ่มบริการเภสัชกรรมปฐมภูมิในระบบบัตรทองภายใต้โครงการร้านยาคุณภาพของฉัน

ทั้งนี้ จากที่เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ในช่วงแรกเป็นการให้บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ที่ครอบคลุม 16 กลุ่มอาการ ซึ่งมีประชาชนเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการเข้าถึงสิทธิและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ และในปี 2567 ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ทำให้มีร้านยาสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในระบบมากขึ้น โดยล่าสุดมีร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้วจำนวน 5,495 แห่ง และเพื่อให้ตอบสนองต่อการเข้ารับบริการของประชาชนที่ร้านยา จากการพิจารณาแนวทางการให้บริการตามวิชาชีพเภสัชกรรมโดยสภาเภสัชกรรม จึงได้มีการประกาศขยายครอบคลุมการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 32 กลุ่มอาการที่เริ่มให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลการบันทึกการให้บริการในระบบ A-MED ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่เริ่มให้บริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยา ตั้งแต่ปี 2565 มีประชาชนเข้ารับบริการสะสมแล้วจำนวน 2,101,873 คน เป็นจำนวน 6,161,768 ครั้ง ในจำนวนนี้พบว่ามารับบริการด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มากที่สุดจำนวน 996,357 ครั้ง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของการเข้ารับบริการทั้งหมด รองลงมาเป็นอาการปวดข้อ/กล้ามเนื้อจำนวน 486,058 ครั้ง น้ำมูก คัดจมูก 429,702 ครั้ง อาการทางผิวหนัง ผื่น คันจำนวน 218,455 ครั้ง อาการปวดท้องจำนวน 199,264 ครั้ง อาการทางตาจำนวน 116,584 ครั้ง ปวดหัว จำนวน 107,713 ครั้ง ปวดฟันจำนวน 70,700 ครั้ง เวียนหัวจำนวน 69,774 ครั้ง และท้องเสีย ,834 ครั้ง เป็นต้น

โดยช่วงกลุ่มอายุประชาชนที่เข้ารับบริการมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 45-64 ปี มีจำนวน 2,261,093 ครั้ง รองลงมาเป็นช่วงกลุ่มอายุ 25-44 ปี มีจำนวน 1,227,816 ครั้ง กลุ่มอายุ 1-14 ปี จำนวน 1,055,848 ครั้ง กลุ่มอายุ 65-80 จำนวน 832,261 ครั้ง กลุ่มอายุ 15-24 ปี จำนวน 630,375 ครั้ง และกลุ่มอายุ 81 ปีขึ้นไป จำนวน 69,171 ครั้ง

ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า สำหรับร้านยาที่ร่วมให้บริการ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ร้านหมอยาโอสถ สาขากุดจับ จ.อุดรธานี จำนวน 37,211 ครั้ง 2.บ้านเภสัชสรรพยา จ.ชัยนาท จำนวน 36,919 ครั้ง 3.เจพี ฟาร์มาซี จ.สิงห์บุรี จำนวน 29,321 ครั้ง 4.ร้าน ส. เจริญฟาร์มา กรุงเทพฯ จำนวน 29,255 ครั้ง 5.บริษัท หลานตาเภสัช จำนวน 29,177 ครั้ง 6.บ้านยาอาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 28,432 ครั้ง 7.คลินิกยากูฟัต จ.นราธิวาส จำนวน 28,048 ครั้ง 8.สะพานสองเภสัช กรุงเทพฯ จำนวน 27,460 ครั้ง 9.ยาดีเภสัช จำนวน 26,050 ครั้ง และ 10.ไพลินเภสัช พระนครศรีอยุธยา จำนวน 26,060 ครั้ง

จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ จะเป็นได้ว่าร้านยาคุณภาพของฉัน ภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่สามารถดูแลและช่วยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเข้ารับบริการสุขภาพในระบบบัตรทองได้ กรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อยที่อยู่ในขอบข่ายการดูแล 32 อาการโดยเภสัชกร ที่มีความสะดวก ไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งนอกจากได้รับยารักษาตามอาการแล้ว ยังสามารถปรึกษาการใช้ยาได้ และที่สำคัญยังมีการติดตามอาการใน 3 วัน หลังจากผู้ป่วยได้รับยารักษาอาการ ซึ่งหากอาการดีขึ้นก็ถือว่าสิ้นสุดการรักษา แต่หากยังไม่ดีขึ้นก็จะแนะนำให้เข้ารับบริการที่หน่วยบริการตามสิทธิต่อไป

“ในการรับบริการขอให้สังเกตสติ๊กเกอร์ 30 บาทรักษาทุกที่ และที่มีตราสัญลักษณ์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” ซึ่งเป็นร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านการอบรมและควบคุมคุณภาพบริการโดยสภาเภสัชกรรม ท่านก็สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเพื่อยืนยันตัวตนขอรับบริการดูแลจากเภสัชกรได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว