เมื่อวันที่ 19 ม.ค.68 นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Paisal Puechmongkol" ระบุว่า นายกสมาคมทนายความไปไกลแล้ว ที่อ้างว่ามาตรา 55 ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ ส่งตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ โดยไม่ ต้องขออนุญาตจากศาล และถือเป็นการควบคุมตัว ตามหมายศาล ตามหลักเกณฑ์ในกฎกรทรวง 

ก่อนอื่นก็ขอแนะนำสมาคมทนายความก่อนว่า เป็นนิติบุคคลชนิดหนึ่งที่จดทะเบียนต่อกระทรวงมหาดไทย ลักษณะเดียวกันกับมูลนิธิ หรือเหมือนกับสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทยจีนที่ผมเป็นเลขาธิการนี่แหละ ไม่ใช่องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ที่มีอำนาจหน้าที่ กำกับควบคุมดูแล จรรยาบรรณมารยาทและการประกอบวิชาชีพทนายความตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของสภาทนายความ
 
กรณีมาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์นั้น สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เกี่ยวกับการส่งตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ ในกรณีเจ็บป่วยหรือเป็นโรคระบาด ซึ่งเป็นหนึ่ง ใน 4 กรณี ตามมาตรา 246 คือ วิกลจริต จะเสียชีวิตถ้าต้องขังต่อไป หรือเป็นสตรีตั้งครรภ์เกิน 3 เดือน หรือเป็นสตรีคลอดบุตรไม่เกิน 3 ปี แต่ไม่ใช่อำนาจสิทธิ์ขาดของกรมราชทัณฑ์ ที่จะส่งตัวออกไปนอกเรือนจำได้ตามอำเภอใจ เพราะต้องปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหมายขังของศาล ตามคำพิพากษาจำคุก ซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะของศาลเท่านั้น
 
เพราะมาตรา 246 บัญญัติวิธีการว่า กรมราชทัณฑ์ต้องขออนุญาตศาลก่อน ส่วนวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานธุรการภายในกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้ยกเว้นหน้าที่ ในการปฏิบัติตามหมายขังของศาลตามคำพิพากษา 
นั่นคือจะต้องขออนุญาตต่อศาลเสียก่อน เพื่อให้ศาล ออกหมายปล่อยตัว หรือมีคำสั่งให้ควบคุมตัวในเรือนจำ อื่นหรือสถานที่ควบคุมตัวตามกฎหมาย 

ข้อสำคัญคือกฎกระทรวงนั้น ไม่อาจขัดหรือแย้งกับมาตรา 246 ได้ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 6 บัญญัติห้ามออกกฎกระทรวง หรือพระราชกฤษฎีกา ขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา
 
โดยสรุปคือ ถ้ามีกรณี 1 ใน 4 เกิดขึ้น แม้กรมราชทัณฑ์จะส่งตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ก็ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน จะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ เพราะหมายขัง ตามคำพิพากษา จำคุกของศาลนั้นใครก็เพิกถอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีพระราชบัญญัติอภัยโทษ หรือมีพระ บรม ราชโองการอภัยโทษตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และในการส่งตัวออกไปนอกเรือนนั้น เมื่อศาลอนุญาตแล้ว ก็อาจส่งตัวออกไปได้ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 ออกไปนอกเรือนจำ ไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องขังตามกฎหมาย ในกรณีนี้ศาลจะออกหมายปล่อย จึงจะเอาตัวออกไปได้ และเมื่อเหตุที่ออกไปหมดไปแล้ว ก็ต้องนำตัวมารายงานศาล ซึ่งศาลจะออกหมายขังตามคำพิพากษาให้จำคุกต่อไป โดยเวลาที่ออกไปในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการถูกจำคุก จะหักเวลาที่ออกไปข้างนอกจากเวลาที่ถูกจำคุกไม่ได้ 
 
กรณีที่ 2 ออกไปนอกเรือนจำไปอยู่ในสถานที่ควบคุม หรือเรือนจำชั่วคราว ในกรณีนี้ศาลไม่ต้องออกหมายปล่อย เพราะถือว่ายังถูกคุมขังอยู่ในสถานที่คุมขังตามหมายของศาล และเวลาที่ออกไปอยู่นั้น ถือว่าเป็นเวลาที่ถูกจำคุกสามารถหักออกจากโทษจำคุกได้
 
การที่กรมราชทัณฑ์นำตัวนักโทษออกไปนอกเรือนจำ แม้อ้างกรณีป่วยเจ็บ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 กรณี ตามมาตรา 246 จึงต้องขออนุญาตศาลก่อน และโรงพยาบาลตำรวจไม่ใช่ เรือนจำหรือ สถานที่ควบคุม ตัวนักโทษตามกฎหมาย แม้หากศาลอนุญาต ศาลก็ต้องออกหมายปล่อยตัวก่อน จึงจะออกไปได้ และเวลาที่ไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจก็ไม่ให้นับเป็นเวลาจำคุก จึงไม่ได้รับผลจากการพักโทษ ตามกฎหมายอภัยโทษปี 2567 นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกิดขึ้นอีกด้วย คือปัญหาว่านักโทษป่วยอาจจะเสียชีวิต ถ้าถูกขังต่อไปจริงหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ตรวจสอบไต่สวนแล้วว่าไม่ได้ป่วยจริง และมีการทำความผิดอาญา จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนและผลการไต่สวนก็เป็นในทางเดียวกัน ลงมติว่ามีการกระทำความผิดอาญา จึงเสนอ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ลงมติตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว กรณีจึงไม่ใช่ที่นายกสมาคมทนายความแถลงแต่อย่างใด