เลอะเทอะ! “นายกสมาคมทนาย” ชี้ “ทักษิณ” นอน “รพ.ตำรวจ”เป็นอำนาจ “ผบ.เรือนจำ” ไม่มีกฎหมายนำกลับไปขังซ้ำ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.68 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นผ่านเพจสมาคมทนายความฯ ว่า ตามที่มีนักกฎหมายบางท่านแสดงความคิดเห็นว่า การที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครได้ส่งตัวอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ อันเป็นการส่งตัวอดีตนายกไปคุมตัวในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหมายขังของศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 146 นั้น ผมเห็นว่าเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน ดังนี้
(1) กรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2) เป็นเรื่องของ “การทุเลาการบังคับให้จำคุก“ ซึ่งต้องหักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมในสถานที่นอกจากเรือนจำออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา แต่กรณีของอดีตนายกเป็นเรื่องของ ”การส่งตัวไปรักษาพยาบาลนอกเรือนจำ“ ตามมาตรา 55 วรรคสอง ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าถูกคุมขังอยู่ตลอดเวลาที่รักษาตัว จึงเป็นคนละกรณีหรือเป็นคนละเรื่องกัน
(2) การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวนอกเรือนจำดังกล่าว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 วรรคสอง ประกอบกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจส่งตัวผู้ต้องขังไปยังสถานบำบัดรักษาสำหรับโรคนั้นโดยเฉพาะได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล
(3) มาตรา 55 วรรคสาม ของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่าในกรณีที่ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามวรรคสอง มิให้ถือว่าผู้ต้องขังนั้นพ้นจากการคุมขัง และถ้าผู้ต้องขังไปเสียจากสถานที่ที่รับผู้ต้องหาไว้รักษาตัว ให้ถือว่ามีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขังตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) ดังนั้น ห้องพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จึงมีสถานะตามกฎหมายเป็นสถานที่คุมขังอันเป็นเรือนจำตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 จึงถือว่าอดีตนายกทักษิณถูกคุมขังตามหมายขังของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเรือนจำตลอดเวลาที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามกฎหมาย การที่อดีตอาจารย์กฎหมายบางท่านแสดงความเห็นว่าต้องให้ศาลฎีกาฯ ออกหมายขังอดีตนายกและนำตัวกลับมาขังในเรือนจำใหม่นั้น เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนถึงขั้น ”เลอะเทอะ“ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจนำผู้ต้องขังที่ได้รับโทษครบถ้วนแล้วกลับไปขังซ้ำอีก
(5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายสองฉบับที่มีฐานะเท่ากันโดยเป็นพระราชบัญญัติเช่นเดียวกัน พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้วันที่ 10 มิถุนายน 2478 ในกรณีที่กฎหมายที่มีฐานะเท่ากันมีบทบัญญัติแตกต่างกัน ต้องถือว่ากฎหมายที่ออกมาในภายหลังเป็นข้อยกเว้นหรือออกมาแทนที่ (supersedes) กฎหมายฉบับแรก จึงต้องใช้กฎหมายที่ออกมาในภายหลังที่มีบทบัญญัติในเรื่องนั้นโดยเฉพาะ การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวนอกเรือนจำจึงต้องเป็นไปตามมาตรา 55 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่ออกมาในภายหลัง อันเป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปที่สอนในชั้นปีที่ 1 ของคณะนิติศาสตร์
จึงสรุปได้ว่า การส่งตัวอดีตนายกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตามกฏหมายราชทัณฑ์ จึงไม่ต้องขออนุญาตศาลและที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลและที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ กฎหมายถือว่าอดีตนายกถูกขังตามหมายขังของศาลในเรือนจำตลอดเวลาตามกฎหมายราชทัณฑ์แล้ว
สำหรับนายนรินทร์พงศ์ ถือว่าเป็นทนายความที่มีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย เคยเป็นทนายความให้กับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนปัจจุบัน ในสมัยที่ถูก คสช.ฟ้อง เคยเป็นทนายความให้นายวัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อครั้งที่มีการปล่อยคลิปความสัมพันธ์กับสาวนักเคลื่อนไหว เคยร่วมกับ สส.พรรคเพื่อไทยยื่นฟ้องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ต.ค.2563 เคยยื่น ป.ป.ช.ให้สอบสวนเอาผิดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างว่าบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด นอกจากนี้ในระยะหลังจะปรากฏข่าวที่นายนรินทร์พงศ์ออกมาให้ความเห็นปกป้องนายทักษิณ ชินวัตร อยู่เป็นประจำ