วันที่ 18 ม.ค.68 นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยตอบสนองความต้องการสถานที่จัดงานระดับโลก และสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่ม
โดย นายสรวงศ์กล่าวถึงข้อกังวลที่มีคนมองว่าโครงการนี้อาจนำไปสู่การฟอกเงินว่า รัฐบาลได้กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมไว้อย่างรัดกุม มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยเฉพาะ และจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ซึ่งการขับเคลื่อนนี้เป็นการนำสิ่งที่เคยอยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดิน ไม่ได้ผ่านกฎหมายเพื่อเปิดกาสิโน แต่เป็นการสร้างสถานบันเทิงครบวงจรที่มีองค์ประกอบหลากหลาย โดยกาสิโนเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ซึ่งแทบไม่มีตัวตนในโครงการนี้
อีกทั้ง รมว.ท่องเที่ยวฯ ยังกล่าวต่อว่า เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นใหม่ เพื่อตอบโจทย์การจัดงานระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต งานกีฬา หรือเวิลด์คลาสอีเว้นท์ที่ประเทศไทยยังไม่มีโครงสร้างรองรับ ซึ่งสิ่งที่รัฐทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เอกชนสามารถทำได้ ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าโครงการนี้เพื่อสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบใหม่
ทั้งนี้ นายสรวงศ์ ยังชี้ว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยยังพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวเดิม เช่น โบราณสถานและธรรมชาติ ซึ่งถูกทำลายลงทุกวัน การสร้างเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์จะช่วยเสริมศักยภาพให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวโลก เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนหลังการเปิดตัวสถานบันเทิงครบวงจร
ซึ่งจากการคาดการณ์เบื้องต้น โครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์จะสามารถดึงดูดการลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อโครงการ และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดค่าใบอนุญาตไว้ที่ 5,000 ล้านบาทต่อสัมปทาน และค่าธรรมเนียมรายปีอีก 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภาครัฐ ทั้งนี้ โครงการยังสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ถึง 5-20% และเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวจาก 40,000 บาท เป็น 60,000 บาทต่อคนต่อทริป
สำหรับโครงการเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย ที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะยาวที่ไม่ได้มีเพียงจำนวนของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มตามไปด้วย ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนแหล่งท่องเที่ยวเดิมควบคู่กับแหล่งใหม่ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจ การจ้างงาน และภาพลักษณ์ที่ยกระดับขึ้นสู่มาตรฐานโลก