ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง หรือ Oncogenesis พระราชทานแก่นักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ ๓ และคณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นวันที่ 3 ณ อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม 2568 เวลา 12.30 น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังชั้น 3 อาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยทรงบรรยายพิเศษพระราชทานแก่คณาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 ของคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน รวม 70 คน ต่อเนื่องในหัวข้อ เรื่อง "การควบคุมการเพิ่มจำนวนของเซลล์ และการเกิดเซลล์ตายและเมแทบอลิซึมของเซลล์มะเร็ง" ซึ่งวัฏจักรของเซลล์ หรือ วงจรการแบ่งตัวของเซลล์มี 4 ระยะ ในแต่ละระยะจะมีจุดที่ตรวจสอบและควบคุมความถูกต้องและคุณภาพการทำงานของเซลล์ โดยมีความสำคัญของกระบวนการส่งสัญญาณเข้าสู่เซลล์ ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองของเซลล์ ซึ่งปกติร่างกายจะมีการควบคุมให้มีความสมดุลและเหมาะสมหากเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการควบคุมในระบบก็จะนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งขึ้นได้ การที่เซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบของกระบวนการเมแทบอลิซึม  ซึ่งประกอบด้วยปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามลำดับ เพื่อช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย และเรื่อง "กลไกการเกิดพยาธิสภาพ ของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ เป็นกุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต" ซึ่งมีการค้นพบและเข้าใจกลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุลและเซลล์ จนสามารถวินิจฉัยโรคให้เข้าถึงลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งมากขึ้น

 ปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงและแสดงออกของยีนต่าง ๆ โดยสามารถแยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้แพทย์มีการพยากรณ์โรคแม่นยำ สามารถเลือกแผนการรักษาและยาได้ตรงกับโรค  โดยกว่า 40 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งที่หลากหลายหนึ่งในนั้นคือการพัฒนา ยากลีเวค หรือ ยาอิมาทินิบ ที่รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง ซึ่งเป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของหลักการในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ด้วยการใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะของมะเร็ง มาพัฒนาหาแนวทางการรักษา นำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง

ซึ่งวันนี้ เป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง ใน 6 หัวข้อหลัก เสร็จสิ้นสมบูรณ์  โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา ทรงมุ่งมั่นและมีพระวิริยะอุตสาหะ ทรงบรรยายด้วยความตั้งพระทัย โดยมีพระประสงค์ที่จะพระราชทานความรู้แก่นักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถนำไปต่อยอดช่วยเหลือประชาชนได้ต่อไปในอนาคต