จากกรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ระบุว่า กระทรวงมหาดไทย โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการอุทธรณ์ประเด็นที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรณีที่ดินเขากระโดง โดยรองปลัดกระทรวงมหาดไทยฯ เห็นว่า การที่กรมที่ดิน โดยคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีคำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเขากระโดงนั้น "ชอบแล้ว" และจะทำหนังสือแจ้ง รฟท. ต่อไป
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้เผยหนังสือแจ้งผลอุทธรณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดย กรมที่ดิน ได้ทำหนังสือ กรมที่ดิน มท 0516.2 (2)/760 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 13 ม.ค.2568 ลงนามโดย เจนกิจ เชฏฐวาณิชย์ รองอธิบดี ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดิน ส่งไปถึง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ความว่า ...
ตามหนังสือที่อ้างถึง (หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/25841 ลงวันที่ 11 ธ.ค.2567) รองอธิบดี ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมาย ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 กรณีไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวังหวัดบุรีรัมย์ และมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง โดยรองอธิบดีซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ของการรถไฟฯและได้ส่งเรื่องการอุทธรณ์พร้อมด้วยความเห็นดังกล่าว นำเรียนรองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์เพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว นั้น
บัดนี้ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ของการรถไฟฯ แล้ว เห็นว่า การที่อธิบดีกรมที่ดิน เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการสอบสวนตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 กรณีไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทับช้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวังหวัดบุรีรัมย์ และมีคำสั่งให้ยุติเรื่อง นั้น เป็นการชอบแล้ว โดยมีความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อุทธรณ์ว่า อธิบดีกรมที่ดิน มีคำสั่งไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ซึ่งออกทับช้อนกับที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกเขากระโดง ตำบลเสม็ดและตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
เห็นว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 582/2566 ลงวันที่ 30 มี.ค.2566 ให้อธิบดีกรมที่ดิน แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการตรวจสอบแนวเขตที่ดินบริเวณเขากระโดง เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ,ที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563
การนี้ รองอธิบดี ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวน ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
โดยผลการสอบสวนปรากฏว่า แผนที่ที่ผู้อุทธรณ์ (รฟท.) นำไปใช้ในการพิจารณาของศาลฎีกา เป็นแผนที่สังเขปที่จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2539 ซึ่งใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน
โดยผู้อุทธรณ์ (รฟท.) กล่าวอ้างว่าทางรถไฟมีระยะทาง 8 กิโลเมตร แต่จากการตรวจสอบรายงานผลการถ่ายทอดแนวเขตที่ดินของคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 681/2566 ลงวันที่ 16 มี.ค.2566 ที่ได้ตรวจสอบทางรถไฟ โดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2497, พ.ศ.2511, พ.ศ.2524 และ พ.ศ.2557
ปรากฏว่า ทางรถไฟมีระยะทางประมาณ 6.2 กิโลเมตร และคณะทำงานดังกล่าวได้ลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริงด้วย นอกจากนี้ แผนที่ภูมิประเทศ ลำดับชุดที่ L 708 ซึ่งเป็นแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกในประเทศไทย จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร (ในช่วงปี พ.ศ.2495-2500) มีความยาวของทางรถไฟประมาณ 6.2 กิโลเมตร เช่นกัน
แต่คณะทำงานดังกล่าวมีข้อสังเกตว่า จุดสิ้นสุดรางรถไฟในแต่ละชั้นปีที่ดำเนินการถ่ายทอดมีระยะสิ้นสุดไม่เท่ากัน และมีความแตกต่างกันในช่วงปลายตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 6 ถึงจุดสิ้นสุด เนื่องจากมีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยหากพิจารณาจากรางรถไฟจริงจุดสิ้นสุดจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก
อีกทั้ง กรณีการรังวัดตามข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง นั้น คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ (รฟท.) ร่วมกับคณะทำงานร่วมทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 3468/2566 ลงวันที่ 28 ธ.ค.2566 รังวัดเพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของผู้อุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรากฏว่า ผู้อุทธรณ์ (รฟท.) นำรังวัด โดยอาศัยแผนที่สังเขปที่จัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2539 ซึ่งในกรณีนี้ กรมที่ดินและคณะกรรมการสอบสวนฯได้ดำเนินการไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางครบถ้วนแล้ว
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า กรณีการรังวัดตามข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง นั้น ผู้อุทธรณ์ (รฟท.) สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะทำงานร่วมทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งกรมที่ดินที่ 3468/2566 ลงวันที่28 ธ.ค.2566 ได้มีการรังวัดตามการนำชี้ของผู้แทนของผู้อุทธรณ์ ตามรูปแผนที่สังเขป ซึ่งจัดทำขึ้นในภายหลัง เมื่อปี พ.ศ.2539 และไม่มีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายอ้างอิงใดๆ เพื่อประกอบการนำชี้ โดยมีราษฎรในพื้นที่และส่วนราชการคัดค้านไม่ยอมรับการนำชี้ของผู้แทนการรถไฟฯ เนื่องจากไม่มีเอกสารหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางกฎหมายอ้างอิงในการที่จะพิสูจน์ได้ว่า เขตที่ได้นำชี้จัดทำรูปแผนที่สังเขปเป็นที่ดินของผู้อุทธรณ์
ข้อเท็จจริง จึงยังไม่ชัดเจนเป็นที่ยุติได้ว่า แนวเขตที่ดินของผู้อุทธรณ์อยู่บริเวณใด รวมทั้งการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ดและตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
จากการดำเนินการสอบสวนดังกล่าว คณะกรรมการสอบสวนฯ มีความเห็นว่า เห็นควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินจนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้อุทธรณ์ และอธิบดีกรมที่ดิน จึงเห็นชอบให้ยุติเรื่อง หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิในที่ดินดีกว่า ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป และกรมที่ดินได้มีหนังสือ ที่ มท 0516.2(2)/22362 ลงวันที่ 21 ต.ค.2567 แจ้งให้การถไฟแห่งประเทศไทย ทราบผลการพิจารณาดังกล่าวแล้ว
ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยคณะทำงานร่วม ทำการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำสั่งกรมที่ดิน ที่ 3469/2566 ลงวันที่ 28 ธ.ค.2566 ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของศาลปกครองกลางซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน พิจารณาผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ แล้ว
แต่เนื่องจากไม่อาจตรวจสอบขอบเขตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการแผนที่ จึงเห็นชอบให้ยุติเรื่อง รวมทั้งได้มีการรายงานการดำเนินการตามคำพิพากษาให้ตุลาการศาลปกครองกลางทราบ เรื่องดังกล่าว จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นบังคับคดีของศาลปกครอง
ถือว่ากรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
ทั้งนี้ กรณีตามอุทธรณ์ดังกล่าว การรถไฟฯ สามารถใช้สิทธิเสนอข้อพิพาทตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ.ศ.2561 จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
หากการรถไฟฯ ประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว ขอให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยืนต่อต่อศาลปกครองชั้นที่ท่านมีภูมิลำเนา หรือศาลปกครองนครราชสีมาที่มูลดดีเกิดขึ้น หรือส่งคำฟ้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองดังกล่าว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้