ในช่วงที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเอ็นจีโอที่นำชาวบ้านไปเรียกร้องความช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐและเอกชน ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่ในการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีปลาหมอคางดำนี้ กลับมีข้อควรระวังที่สำคัญ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวนี้มีความไม่สมเหตุสมผลในบางส่วน
ประการแรก : เอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นเพียงผู้นำเข้าสัตว์อย่างถูกกฎหมาย ยังไม่ผ่านกระบวนการสอบสวนทางกฎหมายใด ๆ ดังนั้นไม่ควรด่วนสรุปความผิด การเรียกร้องความรับผิดชอบจากเอกชนที่ทำตามกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม อาจเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ที่ทำถูกต้องในกระบวนการทางกฎหมาย
ประการต่อมา : ข้อเรียกร้อง 3 ข้อที่มีต่อภาคเอกชน ได้แก่ การเคารพกฎเกณฑ์การนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น การนำกำไรของบริษัทมาแก้ปัญหา และไม่ดำเนินคดีหากมีการวิจารณ์ หากพิจารณาในบริบทที่ถูกต้อง พบว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจากเอกชนที่ถูกกล่าวหานี้ได้มีการขออนุญาตนำเข้าสัตว์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่การลักลอบนำเข้าสัตว์ นอกจากนี้ บริษัทนี้ยังมีประวัติในการคืนกำไรคืนสู่สังคมทั้งในช่วงวิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะการร่วมมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ
ในส่วนของข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับการไม่ดำเนินคดีผู้กล่าวหาบริษัทนั้น ผู้เขียนเห็นว่าหากมีการกล่าวหาจนเกิดความเข้าใจผิด การปกป้องชื่อเสียงจากกระบวนการทางกฎหมายก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ อีกทั้ง ผู้ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทไม่ควรวิตก หากข้อมูลที่ใช้กล่าวหามีความถูกต้อง ไม่เป็นข้อมูลเท็จ
ก่อนหน้านี้ยังมีความพยายามแสดงให้เห็นว่าการฟ้องหมิ่นประมาทครั้งนี้ คือการฟ้องปิดปาก แต่ในความเป็นจริงผู้ถูกฟ้อง ยังคงใช้สื่อเพื่อชี้นำไปในทิศทางที่ทำให้ผู้ฟ้องเสียหาย ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องปิดปากจริง และไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อผู้ถูกฟ้อง
ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรให้คดีที่เกี่ยวข้องกับปลาหมอคางดำ ทั้งสองคดีได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกระบวนการก่อน ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ศาลแพ่ง หรือคดีหมิ่นประมาท การจะดำเนินการใด ๆ ควรรอให้กระบวนการทำงานและรับฟังการพิจารณาอย่างถูกต้องตามกระบวนการ จึงจะสามารถตัดสินได้อย่างมีเหตุมีผล อย่าใจร้อนหรือล้ำเส้นในกระบวนการที่ยังไม่สิ้นสุดเพื่อความยุติธรรมที่แท้จริง
โดย : ทนง สิงห์สุรสีห์