ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะการฟื้นฟูป่า 4 ต้นน้ำ ปิง วัง ยม น่าน ครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.พะเยา และ จ.น่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยลงมือขับเคลื่อนแบบบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนกว่า 50 หน่วยงาน โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 1,387,859 ต้น ใน 12,079 ไร่ พร้อมทั้งส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอาชีพแก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ด้วยการปลูกกาแฟใต้ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว 621,706 ต้น  ได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว และการจัดการของเสีย ในการกักเก็บคาร์บอนและลดก๊าซเรือนกระจก รวม 17,332.091 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า (tCO2eq)

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 SDGs (Sustainable Development Goals) โดย United Nations General Assembly (UNGA) ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายของโลก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่อง การผันผวนทางภูมิอากาศ   ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนปัญหาเรื่องหมอกควันไฟป่าที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ จึงมีนโยบายให้เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ 4 ป่าต้นน้ำภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เพียงฟื้นคืนผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นต้นทางของทรัพยากรและแหล่งเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ยังช่วยพัฒนาอาชีพเกษตรกรและชุมชนที่เหมาะสมบนพื้นที่สูง ให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในรูปแบบ Social Enterprise ควบคู่ไปด้วย ด้วยวิธีการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และความร่วมมือของชุมชน

โดยปัจจุบัน เครือซีพี ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนในหลายพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวบนพื้นที่ป่าต้นน้ำ และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ในโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS โดยในด้านป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ใน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสบขุ่นโมเดล กาแฟสร้างป่า อ.ท่าวังผา จ.น่าน กักเก็บคาร์บอนได้ 5,059.534 tCO2eq  โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ บ้านนาบง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1,774.811 tCO2eq โครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ บ้านทุ่งใหม่ อ.ปัว จ.น่าน สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 1,164.758 tCO2eq โดยทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการที่เครือซีพีสนับสนุนด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต้นน้ำน่าน พร้อมทั้งยกระดับอาชีพและคุณภาพชีวิตชุมชนให้อยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาสังคมและชุมชนในพื้นที่ จ.น่าน และโครงการเกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 2,687.347 tCO2eq โดยขับเคลื่อนการทำงานระหว่างเครือซีพี กับภาคีเครือข่ายแม่แจ่ม โมเดล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้บนพื้นที่ต้นน้ำปิง ในการปรับเปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวมายาวนาน มาปลูกพืชชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังมีโครงการที่เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่าย ร่วมกับ มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในโครงการสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ป่าเล็กในเมืองใหญ่ เพื่อปลูกจิตสานึกแก่เยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้โครงการค่ายเยาวชน…รักษ์พงไพรฯ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 6,640.638 tCO2eq 

นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองประเภทการจัดการของเสีย อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ บ้านดอนไชยป่าแขม จ.พะเยา สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.703 tCO2eq โดยสนับสนุนทักษะที่ชุมชนในด้านการทำปุ๋ยมาพัฒนาต่อยอดด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและมูลสัตว์กลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำอีกครั้ง และโครงการปุ๋ยหมักเบญจมูล บ้านทุ่งโป่ง จ.ขอนแก่น สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2.380 tCO2eq จากความร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ผลักดันโมเดลปุ๋ยชุมชนเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตรของชุมชน และสนับสนุนการนำทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยล่าสุดในปี 2567 ได้รับการรับรองเพิ่มในโครงการ “Waste is More : ปุ๋ยเปลือกเชอรี่กาแฟ สบขุ่นโมเดล จ.น่าน” โดยนำเปลือกกาแฟเชอรี่ที่เหลือทิ้งจากการแปรรูป มาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์หมุนเวียนกลับไปใช้ซ้ำ  สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.92 tCO2eq ทั้งนี้ 8 โครงการดังกล่าวฯ สามารถกักเก็บคาร์บอนและลดก๊าซเรือนกระจก สะสมรวม 17,332.091  tCO2eq โดยเป็นโครงการที่เครือซีพีสนับสนุนด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันเป้าหมายมุ่งสู่องค์กรปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำที่ถือเป็นอีกความท้าทายของโลก โดยช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างโอกาสทางด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน