เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ ต.ท่าตะคร้อ ซาบซึ้งในน้ำพระทัย “ในหลวง ร.9” สร้างอ่างฯห้วยแม่ประจันต์ ทำเกษตรที่หลากหลาย นักเรียน รร.บ้านท่าตะคร้อฯ ขอช่วยรักษาน้ำสะอาดให้มีใช้อย่างยั่งยืน ด้านกรมชลฯ รับมือฤดูแล้ง-น้ำหลาก ปี 68 เร่งขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เพิ่มความจุ
วันที่ 17 ม.ค.68 นายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน (คบ.แก่งกระจาน) และนายอดิเทพ แก่นจันทร์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี
โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองหญ้าปล้อง อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรีก่อ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2549 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ริมห้วยแม่ประจันต์ได้มีน้ำเพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี
สำหรับในปีนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ฯ อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำฯ มีความจุเพียง 42.20 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่าไหลเข้าอ่างเก็บน้ำฯ เฉลี่ยประมาณ 74.30 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องหาแนวทางบริหารจัดการน้ำส่วนเกินนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้ดำเนินการโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะที่ 1 ในพื้นที่ ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ด้วยการขุดลอกตะกอนดินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความจุการกักเก็บน้ำ พร้อมปรับปรับปรุงประตูระบายน้ำ GATE VALVE ซึ่งจะช่วยเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ฯ ได้อีกประมาณ 6.90 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ทั้งยังเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยใแก่ห้ประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างห้วยแม่ประจันต์ฯได้อีกด้วย
นายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแผนก่อสร้างถนนรอบอ่างเก็บน้ำฯ เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สัญจรได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเพิ่มอีก 50 กิโลเมตร รวมเป็น 100 กิโลเมตร มีปฎิบัติการขุดลอกลำน้ำสาขา สร้างประตูระบายในลำน้ำต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านเกษตรกรรม ที่สำคัญได้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกสับปะรด มันสำปะหลัง มาปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน มะนาว กล้วยหอม เป็นต้น นอกจากนี้ ดินที่ได้จากการขุดลอกอ่างเก็บน้ำฯ จะนำมาพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โดยรอบอ่างเก็บน้ำฯ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.เพชรบุรีต่อไป
ด้านนายชนินทร์ อยู่สุข เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ หมู่ 2 บ้านท่าตะคร้อ ต.ท่าตะคร้อ เล่าว่า ย้อนไปสมัยก่อนเกษตรกรจะทำการเกษตรตามฤดูกาล โดยเฉพาะหน้าฝนปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ แต่ในฤดูน้ำหลาก ก็ประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะไม่มีเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ ที่ดักน้ำไว้ แต่หลังจากมีพระราชดำริของในหลวง ร.9 ให้สร้างอ่างเก็บน้ำฯ ขึ้นมา นับจากนั้นปัญหาเรื่องน้ำท่วมลดน้อยลง เกษตรกรทำการเกษตรได้มากขึ้น สามารถลืมตาอ้าปากได้ และช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ทำเพียงสวนเล็กๆ เพราะมีอัตราเสี่ยงในการขาดทุน ปัจจุบันสามารถปลูกพืชได้หลากหลาย ทั้งไม้ผล และไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียนหนองหญ้าปล้อง
“รู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัยของในหลวง ร.9 ที่ทรงมีพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำฯ ให้พวกเราชาวหญ้าปล้อง และขอขอบคุณกรมชลประทาน รวมทั้งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน ที่มีโครงการดีๆ ช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ดี อ่างเก็บน้ำฯ แห่งนี้จะต้องส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะบางส่วนอาจต้องสานต่ออาชีพทำการเกษตรจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ จึงอยากให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างรอบคอบและประหยัด” นายชนินทร์ กล่าว
นายประจักษ์ น้อยสวาท เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ หมู่ 5 บ้านทุ่งเคล็ด ต.ท่าตะคร้อ เล่าว่า หลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ แล้ว เกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน และมีการนำพืชจากพื้นที่อื่นๆ มาทดลองปลูกอีกด้วย นอกจากนี้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจานช่วยเป็นพี่เลี้ยง ทำให้ชาวบ้าน และเกษตรกร มีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้ง 31 หมู่บ้านในพื้นที่หนองหญ้าปล้องรอบอ่างเก็บน้ำฯ ยังได้ปลูกฝังลูกหลานให้ช่วยกันดูแลบริหารจัดการน้ำ เห็นความสำคัญของน้ำที่มีอยู่ เพื่อให้ได้มีน้ำในการดำรงชีวิตต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้ว กรมชลประทานโดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน สำนักงานขลประทานที่ 14 ยังได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนโดยรอบอ่างเก็บน้ำกลุ่มต่างๆ เช่นที่โรงเรียนหนองหญ้าปล้องวิทยา และ โรงเรียนบ้านท่าตะคร้อมิตรภาพที่ 192 โดยมีนักเรียน ผู้นำชุมชน เกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 140 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้น้ำตระหนักในคุณค่าของน้ำและสามารถใช้น้ำให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
ด.ญ.สุภานิชา เทียนพนม นักเรียนชั้น ม.3 และ ด.ญ.อรกัญญา โนราช นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านท่าตะคร้อมิตรภาพที่ 192 เล่าว่า ก่อนที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำฯ อ.หนองหญ้าป้อง ต้องประสบปัญหาน้ำท่วม แต่หลังจากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำฯ แล้ว ปัญหาน้ำท่วมลดลง และชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำฯ โดยใช้ทำการเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น พริก กล้วย เพื่อต่อยอดรายได้ให้กับครอบครัว รวมทั้งนำน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้จึงอยากให้ ช่วยแบ่งการใช้น้ำแบบพอดี ไม่ทิ้งขยะ หรือทิ้งน้ำเสียลงน้ำ เพื่อรักษาน้ำให้สะอาด และมีน้ำใช้ที่ยั่งยืน
อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ แหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์จังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่เพียงบรรเทาปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาอุทกภัย แต่ยังเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ชาวเพชรบุรีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน