The Lion and the Mouse หนูกับราชสีห์ นิทานอีสปชื่อดัง มีตอนจบที่เรียกว่าแฮปปี้ เอนดิ้ง เมื่อ “หนู” ช่วย “ราชสีห์” ให้รอดพ้นจากภัยในป่าใหญ่ และต่างมาเป็นเพื่อนสนิทคอยช่วยเหลือกันตลอดไป ทว่าโลกแห่งความเป็นจริง ฉากจบอาจไม่ได้สวยงาม ยิ่งเมื่ออยู่ในโลกของการเมืองด้วยแล้ว บทสรุปของเรื่องยิ่งคาดเดาได้ยากเย็น !
การเมืองไทยอยู่ในโหมดที่ต้องยอมรับว่า อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องยากที่กูรูสำนักใด จะฟันธงได้ว่า หนึ่งบวกหนึ่ง จึงต้องออกมาเป็นสอง เสมอไป หรือบางสิ่งที่คิดว่า “ใช่” อาจตาลปัตรกลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งในทันที
การเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เพิ่มความถี่และดีกรีอย่างต่อเนื่อง ๆ นับตั้งแต่ปลายปี 2567 ที่ผ่านมา เหตุปัจจัยด้านหนึ่ง เพื่อต้องการช่วย “ลูกสาว” คือ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ที่แม้จะพาสชั้นได้ขึ้นมานั่งเก้าอี้ “ผู้นำรัฐบาล” ได้อย่างฉลุย แต่อย่าลืมว่า ด้วยสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือการที่นายกฯแพทองธาร อยู่ท่ามกลางมรสุม และความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังไม่จบสิ้น ดังนั้นคนเป็นพ่อจึงไม่อาจนิ่งเฉย
แม้วันนี้ “ดีลลับ” ที่ ทักษิณ ทำเอาไว้กับ “ขั้วอำนาจเก่า” ยังไม่มีหมดอายุก็ตาม แต่หากจะปล่อยให้ลูกสาวรับมือกับ “ฝั่งตรงข้าม” ตามลำพังก็คงไม่ไหว !
นอกจากนี้ อายุรัฐบาลเดินเข้าสู่ห้วงปีที่สองแล้ว เท่ากับเริ่มนับถอยหลัง แต่การต่อสู้ทางการเมือง คงไม่สามารถรีรอ ให้ถึงวันที่นายกฯประกาศยุบสภาฯ หรืออยู่ครบเทอมในปี 2570 ได้ ยิ่งเมื่อ “ศึกสนามเล็ก” อย่างการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น การเลือกสมาชิกสภาและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะมีขึ้นในวันที่ 1 ก.พ.68นี้ และยังถือเป็น ศึกแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต้องการกวาดชัยชนะ เพื่อสร้างฐานเสียงต่อยอดไปถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่
หมายความว่า การต่อสู้ในศึกสนามเลือกตั้งอบจ. จึงไม่มีใครยอมออมมือให้แก่กัน แม้บางพรรคจะประกาศว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับสนามอบจ.ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วย่อมตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง !
บรรยากาศการอยู่ร่วมกันของ “รัฐบาลผสม” โดยมีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาล ดูจะมีความแตกต่างไปจากยุคที่ ทักษิณ เคยนั่งบริหารเมื่อคราวพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล อย่างเห็นได้ เพราะวันนี้พรรคเพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาล จากเหตุ “ดีลลับ” จนเกิดการจับมือข้ามขั้ว พรรคเพื่อไทย มาจับมือกับ “พรรค2ลุง” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย จะอยู่ในฐานะ “ถูกขี่คอ” มาโดยตลอด
แม้ทักษิณ จะแสดงให้ขั้วอนุรักษ์นิยมได้เห็นว่า เขาคือคนที่พร้อมจะแบกรับภารกิจ “ล้มส้ม” เขี่ยพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย ให้พ้นจากกระดาน หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่าในสภาพความเป็นจริงแล้ว ยังมี “พรรคภูมิใจไทย” ที่กำลังสยายปีก ครอบคลุมไปถึง “สภาสูง” สร้างเครือข่าย “สว.สายสีน้ำเงิน” มีวุฒิสมาชิกในมือเกินกว่าครึ่ง
การรับมือกับความผันผวนทางการเมืองโดยนายกฯแพทองธาร ดูจะเป็นเรื่องยากที่ต้านทานไหว ยิ่งเมื่อหลายต่อหลายครั้งการผลักดันนโยบายเรือธง ของพรรคเพื่อไทย หรือวาระสำคัญๆ เรื่องอื่นๆ ดูจะไม่ราบรื่น สะดุดครั้งแล้วครั้งเล่า หลายครั้ง คล้ายกับว่า พรรคเพื่อไทยเองถูกโดดเดี่ยวจาก พรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้ ทักษิณ ต้องออกโรง สำแดงตัวตน ทั้งการออกรอบก๊วนกอล์ฟ กับ “ ผู้บริหารทุนใหญ่”
และโดยเฉพาะกับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ดูเหมือนว่า ทั้งอนุทินและ “เนวิน ชิดชอบ” แกนนำพรรคตัวจริง มีข่าวว่าเข้า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ที่กินทั้งมาม่าและบะหมี่กันมาแล้ว เพื่อสยบข่าว “เกาเหลา” เมื่อต่างฝ่ายต่าง “ขวาง” การผลักดันเมกะโปรเจกต์ของอีกฝ่าย
ล่าสุดแม้ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.68 จะให้ไฟเขียว ร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไปแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่ายังมีแรงกระเพื่อม ทั้งจากในรัฐบาลผสมด้วยกันเอง โดยที่ยังไม่นับรวม “แรงต้าน” จากสังคมที่เห็นด้วย เนื่องจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ต่างมีข้อสังเกตต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ว่ายังต้องรอฟัง “มติ” จากที่ประชุมพรรคตนเองเสียก่อนว่าจะให้ความเห็นชอบในวาระที่ 1 หรือไม่เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่สภาฯ
อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาด้วยว่าร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนต์เมนต์คอมเพล็กซ์ แม้จะผ่านสภาฯทั้ง 3 วาระไปแล้ว ยังต้องไป “ลุ้นต่อ” ว่า “วุฒิสภา” จะให้ไฟเขียวด้วยหรือไม่ ในเมื่อสว.ส่วนใหญ่กว่าครึ่งค่อนสภาสูง ล้วนเป็นสว.ที่เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย ก็เช่นเดียวกันกับที่ ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย แม้จะออกแรง “ดัน” วาระการแก้รัฐธรรมนูญ เท่าใด แต่จนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าคนของพรรคเพื่อไทยเองยังออกมายอมรับว่าในการเลือกตั้งปี2570 อาจจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาใช้
ร่องรอยความบาดหมางระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคร่วมรัฐบาล กำลังขยายวงกว้างมากขึ้นด้วยหรือไม่ เมื่อล่าสุด มีรายงานว่า “ชาดา ไทยเศรษฐ” แกนนำพรรคภูมิใจไทย ได้ลงนามในคำสั่งให้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ กลับไปเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ก่อนออกจากตำแหน่งรมช.มหาดไทย ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา
แน่นอนว่าเรื่องนี้หากเดินกันต่อในลักษณะเช่นนั้น เท่ากับว่า จะเป็นการ “ย้ำแผลเก่า” เนื่องจากที่ดินแห่งนี้ นายกฯแพทองธาร เคยถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด
แต่ปัจจุบันได้โอนหุ้นดังกล่าวให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้เป็นมารดาแล้ว เมื่อแพทองธาร เข้ารับตำแหน่งนายกฯคนที่ 31 ทว่าหากที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ถูกเพิกถอนกรรมสิทธิ์ และกลับไปเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ ตามรายงานแล้ว เรื่องนี้ก็จะไปพันกับคนในครอบครัวชินวัตร ตามมาอยู่ดี
เมื่อกระทรวงมหาดไทย อยู่ในมือพรรคภูมิใจไทย และเจ้าของพรรคเพื่อไทย คือคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินอัลไพน์ จึงกลายเป็นการย้ำความวุ่นวายเดิมที่เคยถูกจับตามองมาก่อนหน้านี้ ว่า เมื่อภูมิใจไทยเล่นงานด้วยเรื่องที่ดินอัลไพน์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีกระทรวงคมนาคม อยู่ในมือ ก็จะสู้กลับด้วยปมประเด็นที่ดิน “เขากระโดง” ซึ่งมีคนของครอบครัวชิดชอบ เข้าไปเกี่ยวข้อง
วันนี้ หากถามว่าภายใต้เงื่อนไข “ดีลลับ” ที่ทักษิณ ได้มานั้นต้องบอกว่า “เกือบครบ” แต่ยังขาด อีกหนึ่งภารกิจ นั่นคือการ “พาน้องกลับบ้าน” เมื่อใดที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ได้กลับประเทศไทย จึงจะนับว่า บรรลุเป้าหมาย
แต่ขณะเดียวกันในระหว่างทางที่เดินไปข้างหน้านั้น กลับยิ่งขรุขระและคาดการณ์บทสรุปสุดท้ายจะเป็นตามใจหวังยังยากเย็น มิหนำซ้ำ พรรคภูมิใจไทยเองที่ด้านหนึ่งเป็นเหมือน “มิตร” และ “ลูกน้องเก่า” เคยทำงานร่วมกันมาในรัฐบาลไทยรักไทย แม้วันนี้จะไม่ได้อยู่ในสถานะ “ศัตรู” แต่กลับไม่ใช่ “ตัวช่วย” ที่จะประคับประคองเก้าอี้นายกฯของแพทองธาร ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
และเหนืออื่นใดไปกว่านั้น เมื่อทักษิณ ปวารณาตัวเป็นผู้เล่น ให้กับฝั่งอนุรักษ์นิยมได้ แต่ย่อมไม่ได้หมายความว่า จะ “ตลอดไป”
ยิ่งเมื่อ พรรคภูมิใจไทย สำแดงให้เห็นแล้วว่า ตัวเองมีความพร้อม มีสรรพกำลัง สยายปีกไปถึง “สภาสูง” และยังเตรียมพร้อม “กวาดเสียง” สนามเลือกตั้งอบจ.ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า 1 ก.พ.
เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใด “หนู” อย่างพรรคภูมิใจไทย จึงจะต้องเสียเวลามาช่วย “ราชสีห์” อย่างทักษิณ ในเมื่อ “หนู” ก็มีสิทธิ์ ที่จะเบียดขึ้นมาเป็น “ราชสีห์” ได้เองอยู่แล้ว !