ลีลาชีวิต/ ทวี สุรฤทธิกุล

“คนไทยก็เหมือนน้ำ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ผ่านโตรกเขาอันคับแคบก็แทรกตัวผ่านมาได้ เมื่อถึงทุ่งราบอันกว้างใหญ่ก็แผ่ตัวเอิบอาบไปกว้างไกล สีท้องฟ้าเป็นสีใดก็สะท้อนฟ้าสีนั้น บรรจุเข้าภาชนะใดก็ปรับแปรรูปตามไป แต่เมื่อตักออกมาดูก็เป็นน้ำสีใสบริสุทธิ์อยู่ดั่งนั้น”

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าคำกล่าวนี้ท่านจำมาจากข้อเขียนของนายหลุยส์ ฟิโนต์ ( Louis Finot อดีตผู้อำนวยการสำนักศึกษาของฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ :  Ecole française d'Extrême-Orient มีชีวิตในช่วง พ.ศ. 2407 – 2478 ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก) อาจจะไม่ตรงกับที่นายฟิโนต์เขียนไว้ทุกคำ (ในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 14 แปลข้อเขียนส่วนนี้ของนายฟิโนต์ไว้ว่า “การเดินทางเคลื่อนที่ของเชื้อชาติไทยนั้น อ่อนนุ่ม และไหลเหมือนน้ำ แทรกซึมไปเรื่อย เปลี่ยนสีตามท้องฟ้า เปลี่ยนรูปไปตามความคดเคี้ยวของฝั่ง แต่ก็ยังรักษาไว้ซึ่งลักษณะสำคัญของชาติและภาษา ชนชาติไทได้แผ่ออกไปเหมือนผ้าผืนใหญ่มหึมา ปกคลุมประเทศจีนตอนใต้ ตังเกี๋ย ลาว สยาม จนกระทั่งถึงพม่า และอัสสัม...”) ซึ่งท่านบอกว่าเป็นถ้อยคำที่ “โรแมนติกมาก ๆ” ที่อธิบายความเป็นมาของชนชาติไทยได้อย่างสวยงามเป็นที่สุด !

เรื่องความเป็นมาของชนชาติไทยมีการศึกษาไว้หลายแนวทาง แนวทางหนึ่งอย่างที่นายฟิโนต์กล่าวถึงนี้ ก็คือชนชาติไทยน่าจะกระจายตัวกันอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลานานนับพันปีแล้ว แต่ได้มีการผสมกลมกลืนเข้ากับคนพื้นเมือง และสร้างถิ่นฐานต่าง ๆ ขึ้นมา เป็นเมืองและแว่นแคว้นต่าง ๆ อย่างเช่น อาณาจักรน่านเจ้าในพุทธศตวรรษที่ 12 ก็มีคนไทยเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งร่วมอยู่ด้วย ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16 และ 17 ก็ถูกชาติมองโกลรุกราน  กระทั่งแตกกระสานซ่านเซ็น กระจายตัวไปในทิศทางต่าง ๆ ส่วนหนึ่งลงมาอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ที่มีเชียงรุ้งเป็นศูนย์กลาง ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในสัปดาห์ก่อน ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้เคยเดินทางไปเยี่ยมเยือนมาแล้ว

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นผู้ที่สนใจในเรื่อง “ความเป็นไทย” เป็นอย่างมาก ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คืองานเขียนในยุคแรก ๆ ของท่าน ที่เขียนถึงผู้นำคนหนึ่งของชนชาติไทย ชื่อ “เบ้งเฮ็ก” ซึ่งเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2492 (ก่อนหนังสือพิมพ์สยามรัฐถือกำเนิด 1 ปี) คุณสมบัติ ภู่กาญจน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผู้จัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้เป็นครั้งที่ 6 ใน พ.ศ. 2530 กล่าวถึงงานเขียนเรื่องนี้ว่า

“ในยุคนั้น ความนิยมในการอ่านเรื่องจีน ค่อนข้างจะเป็นที่แพร่หลายมาก ส่งผลให้นิยายจีนทั้งสำนวนเก่า สำนวนใหม่ ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นที่ครึกครื้นยิ่ง จนแม้กระทั่งนักเขียนใหญ่ ๆ อย่าง ยาขอบ ก็ยังต้องสร้าง สามก๊กฉบับวณิพก ออกมาให้คนฮือฮา ... มูลเหตุในการเขียนนิยายเรื่องนี้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้เป็นที่ชัดแจ้งแล้ว ในคำนำสองครั้งของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ และหลังจากแนะนำตัวละครตัวแรกคือ เบ้งเฮ็ก - ผู้ถูกกลืนทั้งเป็น แล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ปล่อย โจโฉ - นายกฯตลอดกาล ออกมาอีกตัวหนึ่ง หลังจากนั้น ทั้งความเสื่อมความนิยมในเรื่องจีน และความยุ่งยากกับการออกหนังสือพิมพ์เองก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ยุติ สามก๊ก – ฉบับนายทุน นี้ไป”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชี้แจงไว้ในคำนำของการพิมพ์หนังสือเรื่อง “เบ้งเฮ็ก” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2492 ว่า มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องสามก๊ก ที่ท่านเคยอ่านมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ๆ ก็เพื่อที่จะฟื้นฟูภาษาไทยให้แกร่งกล้าขึ้น “ผู้เขียนเรื่องนี้ได้อ่านสามก๊กมาตั้งแต่เด็ก นับได้หลายครั้งหลายหน ขณะใดที่เห็นว่าวิธีเรียงความภาษาไทยของตนอ่อนลง ก็ต้องถือสามก๊กเป็นตำรา เอามาอ่านฟื้นฟูความรู้ ... อนึ่ง หนังสือเรื่องสามก๊กนี้ มิได้เขียนขึ้นในเบื้องต้นเพื่อหาสตางค์ และมิได้เขียนขึ้นด้วยความปรารถนาจะระบายความปรารถนา ความรู้สึก หรือเผยแพร่ลัทธิ หรือวิชาความรู้แต่อย่างใด ... แต่ความจริงในขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผู้เขียนก็ได้รับความสนุก จึงหวังว่าความสนุกนี้จะได้มีส่วนเฉลี่ยให้แก่ท่านผู้อ่านทุกคนทั่วถึงกัน”

ต่อมาในการพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2495 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เขียนคำนำไว้ว่า “ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้ว ตอนแรกเริ่มเขียนหนังสือฉบับนี้ว่า ได้เขียนไปด้วยความสนุก มิได้มีความหมายหรือความประสงค์เป็นอย่างอื่น แต่ข้อความในในหนังสือนี้เกือบจะตลอดทุกตอน มีพาดพิงเข้าไปในประวัติศาสตร์ ... ข้อสำคัญที่ท่านผู้อ่านพึงสังวรไว้ก็คือ ผู้เขียนได้เขียนเรื่องนี้ไปด้วยความเชื่อถือว่า เบ้งเฮ็กตัวเอกของเรื่องนั้นเป็นคนไทย”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เริ่มเรื่องเบ้งเฮ็ก โดยย้อนประวัติศาสตร์ไปในยุคที่ไทยเสียอาณาจักรไทยมุงหรือไทยเมืองให้แก่จีน ใน พ.ศ. 382 จากนั้นก็อพยพลงมา หักล้างถางพงแล้วตั้งบ้านเมืองกัน แล้วมารวมกันเป็นอาณาจักรใหม่ตลอดแถบตะวันออกและตอนกลางของมณฑลยูนนาน และติดต่อกันเรื่อยลงมาจนถึงลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และทิศเหนือของพม่าในปัจจุบัน อาณาจักรนี้เรียกว่า “อาณาจักรอ้ายลาว” ในราว พ.ศ. 400 แต่ก็ตั้งมั่นอยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 200 ปีเศษ คือใน พ.ศ. 621 ก็ต้องเสียดินแดนให้กับจีนไปอีก

อีก 60 ปีต่อมา แผ่นดินจีนก็เกิดแตกแยกกันเป็น “สามก๊ก” ด้วยพระมหากษัตริย์คือพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นทรงอ่อนแอ ในหมู่ขุนนางที่นำโดยตั๋งโต๊ะก็คดโกงคอร์รัปชัน กระทั่งโจโฉนายทหารใหญ่ต้องเข้ามาปราบ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าขุนนางคนใหม่ แต่อดีตเชื้อพระวงศ์อย่างเล่าปี่ (ในหนังสือเบ้งเฮ็กเรียกว่า ราชวงศ์ทอเสื่อขาย) และซุนกวนที่ขโมยได้ตราแผ่นดินไป ก็แยกออกไปตั้งตัวเป็นอิสระ ในช่วงเวลานั้นไทยก็ฉวยโอกาสตั้งตัวเป็นอิสระ โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนบรรยายว่า

“พอโจโฉสิ้นชีวิตลง พระเจ้าเหี้ยนเต้ก็หมดวาสนา  โจผีบุตรโจโฉตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เล่าปี่ซุนกวนก็สมใจ ต่างคนต่างตั้งตัวเป็นกษัตริย์ แบ่งแว่นแคว้นกันครอง ตอนนี้เองที่แผ่นดินจีนแตกความสามัคคีถึงขีดสุด ฝ่ายไทยที่รอโอกาสอยู่หลายสิบปีก็ฉวยโอกาสทันที ... ผู้ที่เป็นหัวหน้าของการต่อต้านเพื่อเรียกร้องเอกราชคืนมานี้ ก็ใช่ใครอื่นไม่ คือ เบ้งเฮ็ก เจ้าเมืองมันอ๋อง พระเอกของเราในเรื่องนี้ ...”

เมืองมันอ๋องเป็นรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐไทยนับสิบ ๆ เมืองที่กระจายตัวอยู่ทางดินแดนตอนใต้ของจีน โดยรัฐหรือเมืองมันอ๋องมีสำคัญอีก 2 เมือง คือ เมืองหลวงชื่อ เมืองงินแข กับเมืองสำกั๋ง ที่เป็นเมืองหน้าด่านของจีน โดยหนังสือสามก๊ก(ฉบับที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อ่านประจำ) คือ ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้เขียนบรรยายถึงชีวิตผู้คนในเมืองมันอ๋องไว้อย่างละเอียดพอสมควร ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่ามีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายคลึงกับของคนไทยทางภาคเหนือ รวมถึงการตั้งบ้านเมืองและพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีคติหรือความเชื่อต่าง ๆ ที่ยึดโยงกันมาถึงสมัยสุโขทัยและอยุธยา

เบ้งเฮ็กเมื่อประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากจีนแล้ว ก็ยกทัพบุกเข้าไปในมณฑลเสฉวน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของก๊กเล่าปี่ ซึ่งตอนนั้นเล่าปี่ได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ตั้งให้เล่าเสี้ยนบุตรชายปกครองอยู่ แต่เล่าเสี้ยนนั้นอ่อนแอ ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเสียดสีการเมืองในสมัยนั้น(ความจริงในสมัยนี้ก็ยังใช้ได้) ว่า “เล่าเสี้ยนลูกชายก็ไม่เอาถ่าน คบผู้หญิงกินเหล้าไปตามประสาลูกผู้มีบุญ” รวมถึงทหารเอกคนอื่น ๆ ก็ตายไป หรือไม่ก็ชราภาพหรือไม่ค่อยได้เรื่อง “กวนอูหรือก็เหลือแต่ชื่อบนศาลเจ้า เตียวหุยก็แก่ชราและแก่สุรา จนในที่สุดก็ก็ถึงแก่ความตายไปเพราะฤทธิ์เมา ยังเหลือแต่เตียวจูล่งก็เที่ยววิ่งทำสงครามไปรอบด้าน ขงเบ้งนั้นก็ไว้ยศไว้อย่างนัก เพราะถือว่าไม่มีใครมีภูมิเท่าตลอดทั้งแผ่นดินจีน เริ่มจะเสียคนไปเพราะลูกศิษย์มาก มีคนเรียกว่าอาจารย์ทั้งเมือง”

สงครามกับเบ้งเฮ็กนี้ ขงเบ้งยอมรับว่าเอาชนะด้วยได้ยากที่สุด ซึ่งเป็นเพราะ “เลือดไทย – รักไทย” โดยแท้