วันที่ 17ม.ค. 2568 นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ กูรูวงการการเงินและประกันภัย และอดีตประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก (APFinSA) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุข้อความว่า หลักการของ copayment ที่ถูกต้องก ารแก้ปัญหาของสังคมใดๆ ต้องเริ่มจากการลงมือในทางสร้างสรรค์ (constructive) ไม่ใช่ลงมือในทางลบ (destructive)
เฉกเช่นกับการนำระบบการร่วมจ่ายหรือ copayment มาใช้ในระบบการประกันสุขภาพในประเทศไทย ต้องวางรากฐานให้ดี ให้คนเข้าใจปัญหาแล้วร่วมมือในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้คนมองในแง่ลบแล้วต่อต้าน
ปรัชญาของการนำระบบการร่วมจ่ายในการประกันสุขภาพนั้น เริ่มจากแนวคิดในการแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายจากการเรียกร้องสินไหมสูงเกินไป จนบริษัทประกันภัยต้องเพิ่มเบี้ยประกันภัยอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุหลักมาจากธุรกิจโรงพยาบาลที่แสวงหากำไรและพยายามเน้นกำไรสูงสุด เพื่อส่งผลกำไรนั้นคืนสู่ผู้ลงทุน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
จริงอยู่ว่า ผู้เอาประกันบางส่วนก็ความโน้มเอียงที่จะนอนโรงพยาบาลได้ง่ายขึ้น เมื่อสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทุกอย่าง ทั้งที่ยังไม่ถึงขั้นมีความจำเป็นทางการแพทย์ (ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข) ที่ต้องนอนโรงพยาบาล
หลายประเทศในยุโรปและสิงคโปร์ จึงนำระบบการร่วมจ่ายมาใช้ เพื่อเหนี่ยวรั้งให้คนทบทวนก่อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพราะว่าต้องร่วมจ่ายในทุกครั้งที่มีใบเสร็จรับเงินออกมา อีกทั้งยังให้ผู้ป่วยช่วยกลั่นกรองแนวทางการรักษาที่แพทย์เสนอมาว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไร
ขณะเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกสำหรับคนที่คิดว่าตนเองแข็งแรง มีโอกาสที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลต่ำ ก็ทำประกันไว้บ้าง โดยตนเองรับความเสี่ยง 10 ถึง 30% ส่วนที่เหลือก็ให้บริษัทประกันภัยรับความเสี่ยงไป โดยมีส่วนลดเบี้ยประกันภัยเป็นแรงจูงใจ
จุดเริ่มต้นเป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทประกันภัยและผู้เอาประกันภัย ในการกลั่นกรองและตรวจสอบในการเข้ารับการรักษาแต่ละครั้ง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทประกันภัยยังคงสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราเบี้ยประกันในระดับที่ผู้บริโภครับได้
ดังนั้น แบบประกันที่ถูกต้องสำหรับการร่วมจ่าย มี 4 ระบบคือ
1. การร่วมจ่าย (copayment) ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำสัญญา
เป็นกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ว่าในทุกการรักษาพยาบาล ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมจ่ายตั้งแต่บาทแรกที่เกิดขึ้น โดยกำหนดอัตราส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ 10-30% ด้วยความเชื่อว่าการลูกค้าร่วมจ่ายนี้ จะทำให้ลูกค้าต้องทบทวนก่อนเข้ารักษาในโรงพยาบาล และช่วยตรวจสอบแนวทางการรักษาว่าจำเป็นหรือไม่ ทำให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวมลดลงมา (โดยเฉลี่ย 30% จากราคาปกติ) ในการนี้บริษัทประกันภัยจะเสนอส่วนลดมากกว่าอัตราเปอร์เซ็นต์ที่ลูกค้าร่วมจ่ายไปอีก 10% เสมอเพื่อจูงใจ เช่นถ้าลูกค้าร่วมจ่าย 10% บริษัทก็จะให้ส่วนลดเบี้ยประกัน 20% เป็นต้น
2. การร่วมจ่ายเมื่อลูกค้าเรียกร้องสินไหมในโรคจุกจิกที่ไม่จำเป็น
มีสถิติจากบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทยว่า ค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลที่แต่ละบริษัทรับนั้น 30-40% เกิดจากโรคที่ยังไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ หรือที่เรียกว่า simple disease ดังนั้น ลูกค้าคนใดมีการเรียกร้องสินไหมบ่อยๆ โดยไม่มีความจำเป็น ก็จะถูกผลักให้ร่วมจ่ายโดยมีส่วนลดเบี้ยประกันให้เท่ากับเปอร์เซ็นต์ที่ลูกค้าต้องร่วมจ่าย เช่นลูกค้าร่วมจ่าย 30% ก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัย 30% เช่นกัน เป็นการร่วมกันรับผิดชอบ (ไม่ใช่ผลักภาระ)
3. การร่วมจ่ายในค่าใช้จ่ายส่วนแรก (deductible)
เป็นกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ว่าหากมีการเข้ารักษาพยาบาลลูกค้าต้องร่วมจ่ายส่วนแรกก่อนเสมอ เช่น 30,000 บาท หากค่ารักษาที่เกิดขึ้นไม่เกิน 30,000 บาท ก็จะเบิกไม่ได้เลย แต่ถ้าเกิน 30,000 บาท ส่วนที่เกิน 30,000 บาทจะเบิกได้ทั้งหมด เป็นการทำให้ผู้เอาประกันภัยยั้งคิดว่า ก่อนที่จะเบิกค่ารักษาได้ คุณต้องควักกระเป๋าจ่ายก่อนเสมอ ถามว่ามีความจำเป็นที่ต้องเข้ารักษาหรือเปล่า ถ้ามันจำเป็น ก็ต้องยอมควักกระเป๋าตัวเองด้วยเสมอ
4. จะร่วมจ่ายในส่วนแรกและเป็นเปอร์เซ็นต์หลังจากนั้น
เป็นกรมธรรม์ที่นำแนวคิดข้อ 1 และข้อ 3 มารวมกันคือ ทุกครั้งที่เข้าโรงพยาบาล ลูกค้าต้องจ่ายส่วนแรกก่อนเสมอ และจะเบิกได้หลังจากนั้น แต่ลูกค้ายังต้องร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ไปด้วย ซึ่งเป็นระบบที่ประเทศสิงคโปร์บังคับทุกบริษัทประกันภัยต้องเสนอในรูปนี้
รัฐบาลสิงคโปร์บังคับให้ทุกบริษัทประกันภัย เมื่อออกประกันสุขภาพต้องมีการบังคับให้ลูกค้าร่วมจ่ายในส่วนแรกเป็นเงิน 2000 เหรียญสิงคโปร์หรือ 50,000 บาท และถ้าใครมีค่าสินไหมเกินกว่า 50,000 บาท ก็ต้องร่วมจ่าย 10% ของค่าใช้จ่ายหลังจากนั้น โดยบริษัทประกันภัยจะให้ส่วนลดมากถึง 40% (เมื่อเทียบกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันบางคนยืนกรานที่จะให้บริษัทจ่ายทุกบาททุกสตางค์) ดังนั้น คนกว่า 95% จึงเลือกแบบที่มีการร่วมจ่ายในส่วนแรกและร่วมจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์หลังจากนั้น
จะสังเกตว่าระบบที่เขาใช้อยู่นั้น เป็นแนวคิดในการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างบริษัทประกันภัยกับลูกค้า ไม่ได้เป็นแนวคิดในการลงโทษลูกค้าที่เรียกร้องสินไหมมากกว่าปกติ โดยการลดการคุ้มครองแต่ยังคิดเบี้ยประกันเท่าเดิม
ถามว่าที่ประเทศสิงคโปร์มีบริษัทประกันภัยที่ใช้แนวคิดในการลงโทษลูกค้าบ้างหรือไม่ คำตอบคือมี แต่ต้องเข้าใจว่านั่นเป็นกลยุทธ์ของบริษัทประกันภัยที่มาทีหลัง และพยายามที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดจากบริษัทเดิม โดยการเสนอเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่าคู่แข่ง แต่ถ้าลูกค้าคนใดมีการเรียกร้องสินไหมมากกว่าปกติ ก็จะเสนอให้จ่ายเบี้ยประกันเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ลดการคุ้มครองลง ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นการตักเตือนเบาๆ และ เบี้ยประกันที่ปรับขึ้นนี้จะสูงกว่าเบี้ยประกันปกติเพียงเล็กน้อย
ปรัชญาที่สำคัญของการประกันภัย คือประชาชนต้องการโอนย้ายความเสี่ยงของตนเองไปที่บริษัทประกันภัย
ในตำราของหลักสูตรวางแผนการเงินของทุกสถาบันกล่าวไว้ตรงกันว่า ค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดหลังการเกษียณอายุคือค่ารักษาพยาบาล โดยเฉพาะใน 5 ปีสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
โดยทั่วไป ลูกค้าส่วนใหญ่จะมีการเบิกสินไหมน้อยมาก พอลูกค้าอายุ 75 ปี เริ่มป่วยออดๆแอดๆ ต้องเข้าโรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง เช่น เป็นลมหมดสติหรือติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลทุก 2 เดือน ซึ่งเข้าเงื่อนไขของการร่วมจ่ายในกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ที่จะนำมาบังคับใช้
กลายเป็นว่าตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ลูกค้าเหล่านี้จ่ายเบี้ยประกันมาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหวังใช้ในบั้นปลายของชีวิต กลับพบว่าตนเองถูกบทลงโทษของบริษัทประกันภัย ที่บังคับให้ต้องร่วมจ่ายค่าสินไหมในวันที่ตนเองไม่มีรายได้แล้ว
ซึ่งแน่นอน ในความคิดของลูกค้าและครอบครัว ไม่ได้มองว่ามันเป็นหลักการในการแก้ปัญหาค่าสินไหมที่สูงเกินไปของระบบ แต่มองว่า นี่คือเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทประกันภัยที่เขียนสัญญาซ่อนกลไว้
เมื่อตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ออกหลักการของการประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ออกมา ที่ห้ามบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันชีวิตยกเลิกกรมธรรม์หรือปรับเบี้ยประกันภัยลูกค้าโดยพลการ (หากลูกค้าไม่ได้มีเจตนาทุจริต)นั้น ได้รับเสียงชื่นชมมากมายว่า คปภ. พิทักษ์สิทธิ์ของประชาชน
แต่เมื่อแนวคิดของสมาคมประกันชีวิตไทยออกมาว่า หากลูกค้าคนใดมีการเรียกร้องสินไหมบ่อยและมากเกินเกณฑ์ที่กำหนด จะถูกลดการคุ้มครองลง 30-50%
มันจึงสามารถถูกมองว่านี่เป็นเงื่อนกลที่ซ่อนไว้ว่า บริษัทจะไม่ยกเลิกสัญญาแต่ตอนอายุมากๆ ถ้าคุณทนที่จะจะจ่ายเบี้ยประกันสูงขึ้นเรื่อยๆ (ซึ่งเบี้ยประกันอาจจะสูงขึ้นไปเป็น 3-4 เท่าของอายุ 30 ปี) แต่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ลดลง 30-50% ถ้าทนได้ก็ทนไป ถ้าทนไม่ได้ก็ยกเลิก แล้วไปใช้สิทธิ์ 30 บาท บริษัทก็เหมือนกับยกปัญหาออกจากอก
หรือนี่เป็นแนวคิดที่บิดเบี้ยวของการโอนย้ายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันภัยดูแล ทั้งที่ผู้เอาประกันภัยมีเจตนาบริสุทธิ์มาตั้งแต่ต้น ?