วันที่ 17 ม.ค.68 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวความคืบหน้าโครงการวัดคู่เมืองว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 2567 ปัจจุบัน เนื่องจากมองว่า กรุงเทพมหานครมีวัดจำนวน 460 วัด เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย 406 วัด ธรรมยุติกนิกาย 43 วัด อนัมนิกาย 7 วัด และจีนนิกาย 4 วัด วัดเหล่านี้มีความสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เจริญก้าวหน้า ไม่เพียงแต่ด้านจิตวิญญาณในการเผยแพร่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นเครื่องยืดเหนี่ยวจิตใจ และสร้างสติปัญญาในการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ เท่านั้น วัดยังเป็นสถานที่สำคัญของบ้านเมือง เป็นสถานศึกษา แหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาเข้าชมเป็นอันดับแรกที่มาเยือนประเทศไทย บางวัดยังเป็นศูนย์กลางแหล่งค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของชุมชน มีตลาดนัด มีอาหารรสเลิศ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พันธุ์พืช อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญทุกสาขา
ดังนี้ กทม.จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าว ปัจจุบันได้จัดโครงสร้างใหญ่ของโครงการ ประกอบด้วย เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานโครงการ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นที่ปรึกษาฝ่ายฆรวาส และแต่งตั้งรองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้ากลุ่มเขต กำกับดูแลทั้ง 6 กลุ่มเขต พร้อมตัวแทนจากฝ่ายสงฆ์และฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงแต่งตั้งคณะขับเคลื่อนจากส่วนกลาง 8 คณะ ประกอบด้วย 1.ปลอดภัยดีและเดินทางดี ด้านสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ 2.บริหารจัดการดี ด้านการปกครอง 3.เศรษฐกิจดี ด้านเศรษฐกิจ 4.สิ่งแวดล้อมดี ด้านสิ่งแวดล้อม 5.สุขภาพดี ด้านสาธารณสุข 6.สังคมดี ด้านวัฒนธรรม ท่องเที่ยว และกีฬา 7.เรียนดี ด้านการศึกษา 8.โปร่งใสดี ด้านการมีส่วนร่วม โดยให้แต่ละเขตประสานงานกับวัดในพื้นที่ และรายงานผลดำเนินการทุก 3-6 เดือน จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลทั้งหมดจัดประชุมใหญ่รายปีต่อไป
นายต่อศักดิ์ กล่าวว่า จากการประชุมครั้งล่าสุด ผู้ว่าฯกทม.มีนโยบายให้แต่ละเขตดำเนินการไปทิศทางเดียวกัน เช่น ตรวจสุขภาพพระ การออกบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น และสร้างต้นแบบเขตนำร่องในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้แต่ละเขตต่อไป ปัจจุบันมีหลายเขตเริ่มดำเนินการแล้วหลายรูปแบบ เช่น เขตภาษีเจริญ จัดการเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารพิษในโครงการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ และโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เขตบางซื่อ จัดโครงการสวน 15 นาที ขนาดพื้นที่ 100 ตารางวา ณ วัดปากบ่อ เขตสายไหม รณรงค์ผู้ประกอบการในโครงการไม่เทรวมและคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เขตภาษีเจริญ เป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้กับนักเรียนเรื่องการคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย และการจัดโครงการดิจิทัล (DQ) เขตวังทองหลาง จัดโครงการพระภิกษุช่วยสอนนักเรียนชั้น ป.3 – ป.6 โรงเรียนวัดสามัคคีธรรม เขตคลองเตย จัดโครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ตลอดปีการศึกษา ณ โรงเรียนวัดสะพาน เขตดินแดง กิจกรรมสวดมนต์ยาวทุกวันศุกร์ เป็นต้น โดยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมแต่ละวัดในพื้นที่
"ให้ ผอ.เขตดำเนินการภายใต้แนวคิดร่วมมือกันระหว่าง บ้าน วัด กรุงเทพมหานคร เช่น โครงการ food bank โครงการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ โครงการแยกขยะ และการจัดทีมตรวจสุขภาพไปที่วัด เป็นต้น โดยยึดแนวทาง 9 ด้าน 9 ดี เป็นหลัก ขึ้นอยู่กับแต่ละวัดว่ามีความพร้อมด้านใด ปัจจุบันหลายวัดเริ่มแล้ว เช่น โครงการโรงเรียนสอนวันอาทิตย์ จากนี้จะเดินหน้าสร้างเขตนำร่องด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมต่อไป" นายต่อศักดิ์ กล่าว