ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ

ในที่สุดก็เหลือ P เพียงตัวเดียวในตำนานของ PP&M หรือ ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี หนึ่งในวงโฟล์กที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด และยังเป็นศิลปินนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่นที่สุดในทศวรรษ 1960

P ที่เพิ่งจากไปคือ ปีเตอร์ ยาร์โรว์ หลังความเจ็บป่วยมาระยะหนึ่ง เขาก็เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2025 ในวัย 86 ปี

ยาร์โรว์ เกิดที่แมนฮัตตัน, นิวยอร์ค ในครอบครัวชาวยิวเครนเชื้อสายยิวที่อพยพเข้าสู่อเมริกาตั้งแต่ปี 1922 พ่อเป็นนักกฎหมายชั้นนำ และเป็นสมาชิกของกรรมการผู้ร่วมก่อตั้ง เนชันแนล คอมมิตตี ฟอร์ อะ ฟรี ยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์ และร่วมก่อตั้งองค์กร เรดิโอ ฟรี ยุโรป ที่ได้ทุนอุดหนุนจาก ซีไอเอ ส่วนแม่เป็นครูสอนการละคร

แต่พ่อกับแม่ก็หย่ากันเมื่อเขาอายุเพียง 5 ขวบ แม่แต่งงานใหม่กับผู้บริหารองค์กรระดับสูงแห่งหนึ่ง ชีวิตของ ยาร์โรว์ ที่อยู่กับแม่จึงไม่ได้ลำบากยากแค้นอะไร และเป็นคนเรียนเก่ง

หลังจบจากโรงเรียนมัธยมดนตรีและศิลปะ ก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ หนึ่งในท็อป 5 ของมหาวิยาลัยใหญ่ของอเมริกา และจบศิลปศาสตร์บัณฑิตที่นั่น

ยาร์โรว์ เริ่มร้องเพลงและเล่นดนตรี ความสามารถในการเล่นกีตาร์และร้องเพลงของเขา ทำให้เขากลายเป็นครูช่วยสอนตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีรายได้พิเศษ สิ่งที่เขาสอนคือความรู้เรื่องเพลงโฟล์กอเมริกัน และเพลงที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน จะบอกว่าเป็นซ้ายตรงข้ามกับพ่อที่เป็นขวาจัดก็คงได้

หลังจบมหาวิทยาลัย ยาร์โรว์ ก็ยึดอาชีพเล่นดนตรีตามคลับโฟล์คในนิวยอร์ค วันหนึ่งได้พบกับ อัลเบิร์ท กรอสส์แมน ผู้จัดการและนักธุรกิจดนตรีคนสำคัญในแวดวงโฟล์ค กรอสส์แมน ชวนให้เขาก่อตั้งวงทริโอ โดยร่วมกับ แมรี่ เทรเวอร์ส นักร้องสาวที่อยู่ในกลุ่มนักร้องแบ็คอัพให้ พีท ซีเกอร์ และ โนเอล พอล สตูกี้ย์ นักร้อง-นักดนตรีโฟล์คและตลกแบบสแตน-อัพ คอมีดี้

ปี 1961 เป็นการกำเนิดของ ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี่ และหลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์

ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี่ ประสบความสำเร็จอย่างมากจาก 4 อัลบั้มแรก - Peter, Paul and Mary (1962), Moving (1963), In the Wind (1963) และ A Song Will Rise (1965) ก้าวข้ามไปประสบความสำเร็จในตลาดเพลงป็อปด้วย มีเพลงฮิทมากมาย อย่าง "Lemon Tree", "Early in the Morning", "If I Had a Hammer (The Hammer Song)", "Gone the Rainbow", "Tiny Sparrow", "500 Miles" (from Peter, Paul and Mary), "Blowin' in the Wind", "Don't Think Twice, It's All Right", "The Cruel War", "A'Soalin'", "For Lovin' Me", "Day Is Done", "Early Morning Rain" ฯลฯ

ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี่ แยกทางกันในปี 1970 เพื่อไปทำงานส่วนตัวของแต่ละคน ก่อนจะกลับมารวมกันใหม่ในปี 1978 แบบเฉพาะกิจ จากนั้นก็กลับมารวมตัวกันอีกตั้งแต่ปี 1986 แม้จะออกอัลบั้มไม่มากนัก แต่ก็ยังทัวร์คอนเสิร์ทอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของ แมรี่ เทรเวอร์ส ในปี 2009

แต่หลังการเสียชีวิตของ เทรเวอร์ส สองคนที่เหลืออยู่ ยาร์โรว์ และ สตูกี้ย์ ก็ยังออกเล่นคอนเสิร์ทคู่กันเป็นระยะ

ยาร์โรว์ ในฐานะศิลปินเดี่ยวมีผลงานอัลบั้มออกมาเพียง 5 ชุด ออกในช่วงทศวรรษ 1970 เสีย 4 ชุด อีกชุดมาออกในปี 2010 แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาอยู่เฉยๆ เพราะยังทำงานอื่นๆอีกมากมายตามที่กล่าวมาแล้ว รวมถึงการตั้งองค์กรสำหรับเด็ก และทำงานการกุศลต่างๆ

ในฐานะนักแต่งเพลง นอกจาก ยาร์โรว์ ร่วมแต่งผลงานโด่งดังของ ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี่ อย่าง "Puff (The Magic Dragon)" ด้วยแรงบันดาลใจจากบทกวีของเพื่อนสมัยเรียนคอร์เนลล์, "Day Is Done", “Gone the Rainbow”, “The Cruel War” เป็นต้น เขายังร่วมแต่ง "Torn Between Two Lovers" เพลงติดอันดับ 1 บนตารางบิลล์บอร์ด ฮ็อท 100 ของ แมรี่ แม็คเกรเกอร์

นอกจากนี้ ยาร์โรว์ ยังเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินอื่น, ผลิตรายการโทรทัศน์ และเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม ขณะที่เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสังคมและการเมืองในหลายประเด็นมายาวนาน เช่นเดียวกับ แมรี่ เทรเวอร์ส และ พอล สตูกี้ย์

ภาพที่ทั้งสามร่วมในการเดินขบวนและขึ้นร้องเพลงบนเวทีที่วอชิงตัน ภายใต้การนำของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เมื่อปี 1963 และที่แอละแบม่าในปี 1965 รวมทั้งอีกหลายครั้งในการเดินขบวนต่อต้านสงคราม กลายเป็นภาพคลาสสิคของการมีส่วนร่วมระหว่างดนตรีและการเมือง

วันนี้ไม่มี P-Peter ก็เท่ากับ ปีเตอร์, พอล แอนด์ แมรี่ ปิดฉากโดยสมบูรณ์ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงที่ ปีเตอร์ ยาร์โรว์ และ พอล สตูกี้ย์ ยังแข็งแรงพอจะออกทัวร์คอนเสิร์ท แม้ไม่มี แมรี่ เทรเวอร์ส อยู่ร่วมทางแล้ว พวกเขายังใช้ชื่อว่า Peter & Paul Celebrate Mary and 5 Decades of Friendship.