ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“ศตวรรษใหม่..ล่วงเข้าสู่เสี้ยวหนึ่งของศตวรรษแล้ว..มีทรรศนะต่อโลกที่ทั้งเกิดขึ้นและแปรเปลี่ยนไปจากโลกเดิมๆมากมาย..หลายๆขณะเราต่างรู้สึกถึงความตกต่ำแห่งสถานะของสังคมโดยเฉพาะในด้านของการเรียนรู้ต่อคุณค่าของความเป็นชีวิต เนื่องเพราะโลกของตัวเราเกิดวิกฤติจากความสับสนทางภูมิปัญญา..จากความเป็นอคติและความไม่รู้นานา...การเรียนรู้ที่ประเดประดังกันออกมาอย่างท่วมท้นอย่างไร้ทิศทาง..จึงเปรียบดั่งกระแสน้ำเน่าอันเชี่ยวกราก ที่ท่วมทับภูมิปัญญาแห่งยุคสมัยจนจมมิด..เหตุนี้นิเวศของการเรียนรู้ศาสตร์อันเป็นประโยชน์สุขต่อโลกต่างๆ จึงดำดิ่งอยู่กระบวนวิธีที่ไร้เป้าหมายของความวาดหวังไปจนแทบจะจบสิ้น..ลัทธิอัตตานิยมค้ำคอเราไว้ อย่างทุลักทุเลแต่โหดร้าย..ศาสตร์ด้านวิชาการแขนงต่างๆ..มีสภาพไม่ต่างไปจากซากศพทางภูมิปัญญาที่ทั้งขุนและพัฒนาไม่ขึ้น..เกิดขึ้นแล้วก็เจือจางความหมายอันแท้จริงไปอย่างยับเยิน..”

และนี่คือ..บทสรุปต่อการยืนยัน..ที่โลก ณ วันนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ใหม่อันยั่งยืน..ด้วยการเรียนรู้ และรับรู้ใหม่อันไม่รู้จบขึ้น..สู่สำนึกของผู้คนโดยรวม..

“ถึงเวลาที่โลกจะต้องสร้างนิเวศแห่งการเรียนรู้..เพื่อสังคมจะได้ยกระดับสู่..ความเป็นศตวรรษใหม่แล้ว..จริงๆ”

นี่คือ..นัยสำคัญ..ที่ได้ค้นพบจากสาระเนื้อหาอันมีค่ายิ่งต่อยุคสมัย “เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ” (Long Life Learning)..ที่เขียนขึ้นโดย.. “มิเชลล์ อาร์ ไวส์” (Michelle R.Weise)..ที่เน้นย้ำถึงการ..สร้างระบบสมนิเวศการเรียนรู้ใหม่ พร้อมรับมืองานแห่งอนาคต ที่วันนี้ยังมาไม่ถึง!

เขาเป็นอดีต..นักนวัตกรรมการเรียนรู้ และ นักยุทธศาสตร์การศึกษา ที่สามารถพลิกแนวคิด “Lifelong Learning” มาเป็น “Long Life Learning”..เพื่อรับมืองานแห่งอนาคต ผ่าน ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษาสู่ตลาดแรงงาน..ด้วยหลัก 5ประการ เพื่อเชื่อมต่อความต้องการของผู้เรียน..สถานศึกษา และนายจ้าง พร้อมนวัตกรรมการเรียนรู้..จากหลายองค์กรดาวรุ่ง ไม่ว่าจะเป็น..

“จีพีเอสการศึกษา”..ที่ระบุช่องว่างได้อย่างแม่นยำ..  “บริการสนับสนุนอย่างรอบด้าน” ทั้งค่าเล่าเรียน คำปรึกษา..ตั้งแต่ขณะที่เรียนรู้ จนถึงหลังได้งาน..

“หลักสูตรที่ยืดหยุ่น”..ที่ออกแบบเองได้ดั่งใจนึก สอดรับกับตำแหน่งงานใหม่.. “ระบบจ้างที่โปร่งใส”..สมเหตุผล โดยเปิดโอกาสให้ ผู้มีทักษะทุกวัย ทุกที่มา..

ว่ากันว่า..อนาคตของคนทำงาน..คือ..อนาคตของเราทุกคน...ถึงเวลาที่จะสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่เพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนของผู้คนนับล้าน เพื่อยกระดับสังคมแห่งศตวรรษใหม่ให้เท่าเทียม เป็นความหวัง และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง! ในความเป็นจริง..ที่อาจจะเกิดขึ้นได้..ว่ากันว่าอนาคตได้มาถึงเราแล้ว..อายุขัยของมนุษย์ยืนยาวขึ้น จนชีวิตการทำงานอาจยาวนานถึง 100 ปี..พร้อมการเปลี่ยนงาน 20-30 ครั้ง..

4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยไม่เพียงพออีกต่อไป.. “การเรียนรู้ใหม่ตลอดชีวิต” ..คือคำตอบสุดท้าย.. “แต่..คนทำงานกลับมีรายได้น้อย เหตุนี้..ด้วยภาระที่หนักอึ้ง..ผู้คนจะหาเงินและเวลา เพื่อพัฒนา ตัวเองได้อย่างไร..?..แรงงานวัย 50 ขึ้นไป จะเริ่มต้นใหม่ได้จริงๆหรือ?..เราจะแข่งขันในเกมเปลี่ยนสายงานได้หรือไม่?..เมื่อออกจากงานแล้ว..จะแน่ใจได้อย่างไรว่า..การออกจากงานเพื่อเรียนรู้ใหม่ จะทำให้ผลงานนั้นๆคุ้มค่า..?

... “หากวันนี้..เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้..สำหรับอนาคตแล้ว..ย่อมมั่นใจได้ว่า ผู้เรียนรู้หวังจะมีทักษะที่จำเป็น..สำหรับอนาคต..ในวันข้างหน้า..”

“มิเชลล์” เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า..เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกัน และหากพลเมืองจำนวนมากของเรา ไม่สามารถก้าวหน้าได้ในวันนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆในระบบนิเวศด้วย..การมองหาทางออกโดยอาศัยความต้องการของกลุ่มชนที่เผชิญกับความยากลำบากมากที่สุดเป็นแกน..ที่จะทำให้..เรามองเห็นและแก้ไขปัญหาสำคัญ ทลายอุปสรรค และ สิ่งกีดขวางได้สำเร็จ..หนังสือเล่มนี้จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมพลิกโลก กับกลุ่มเป้าหมายอย่างผู้ไม่บริโภค(Nonconsumer)อันหมายถึงกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ด้วยความบกพร่องของระบบการศึกษา และ โครงสร้างของตลาดแรงงาน..

เพราะว่า..ในระบบนิเวศ นอกจากต้องคิดถึงการเติบโตจากทรัพยากรที่มี ก็ยังต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่ขาดแคลนที่สุด ..ซึ่งเปรียบเหมือนข้อจำกัดด้วย..

ในหัวข้อที่ประกอบด้วย บุคลากรใภาคการศึกษา ผู้เรียน นายจ้างหลายล้านคน รวมทั้งนโยบายที่ทับซ้อนของรัฐบาลท้องถิ่น และหน่วยงานในท้องถิ่น..องค์ประกอบสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล..ก็คือ “กลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

*ชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกาคือกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง..ในแง่เชื้อชาติ พื้นฐานของครอบครัว ประสบการณ์ชีวิต..

“พวกเขาคือ คนหมู่มากในระบบนิเวศของเรา ...ก่อนการเกิดการระเบิดใหญ่ ก็มีประชากรอเมริกามากกว่า 41 ล้านคนแล้ว ที่ต้องดิ้นรนหาเงินที่สร้างรายได้มากพอ..ต่อการดำรงชีพ..

“เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกัน และหากพลเมืองจำนวนมากของเราไม่สามารถก้าวหน้าได้ในวันนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ..ในระบบนิเวศด้วย..การมองหาทางออก โดยอาศัยความต้องการของกลุ่มคนที่เผชิญความยากลำบากมากที่สุดเป็นแกน จะทำให้เรามองเห็น และสามารถแก้ปัญหาสำคัญ ทำลายอุปสรรคและสิ่งกีดขวางต่างๆได้สำเร็จ ..”

..เราอาจสงสัยกันว่า..เมื่อไหร่กันที่เราจะเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตอันยืนยาวได้ ..และจะพัฒนาทักษะของมนุษย์ได้ที่ไหน..? แล้วเครื่องจักรที่จะมาแทนที่มนุษย์ อย่างที่คนกลัวกันล่ะ..!

“นี่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อเอาชนะเครื่องจักร เราจะแพ้แน่นอน ..ถ้าคิดจะแข่งขันกับพวกมัน..แต่นี่คือการแข่งขันร่วมกับเครื่องจักรในอนาคต..คุณอาจได้ค่าตอบแทนที่ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า.. คุณทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้เก่งฉกาจแค่ไหน..?..

90 เปอร์เซ็นต์ ในเพื่อนร่วมงานของคุณ  ..คือเครื่องจักรที่มองไม่เห็น”

“มิเชลล์” ได้อ้างถึงความคิดของ “เควิน เคลลี” นักคิด นักอนุรักษ์บรรณาธิการผู้จัดพิมพ์ “Whole Earth Review”..และผู้ก่อตั้งนิตยสาร “Wierd” (ประหลาด/แปลก)..ซึ่ง “เควิน” ได้คาดการณ์ถึงแนวโน้มแห่งเทคโนโลยีของอนาคตไว้ในหนังสือ “The inevitable” (อันหลีกเลี่ยงไม่ได้)...!

ในที่สุด..เราก็จะได้ข้อสรุปว่า..แม้ยังไม่มีใครรู้ถึงว่า อาชีพใหม่ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอะไรบ้าง?..แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า..งานแห่งอนาคตจะมีลักษณะผสมผสานโดยประสบการณ์..

งานเหล่านี้..ไม่สามารถอธิบายได้ ด้วยรายละเอียดงานที่ตายตัว หรือชื่อตำแหน่งที่เรียบง่าย..มันต้องอาศัยทักษะเฉพาะด้าน และ ทักษะเชิงอุตสาหกรรม การบริหารจัดการ และ การคิดแบบบูรณาการ..เช่นเดียวกับการทำงานเป็นทีม

แรงงานที่ทรงคุณค่าที่สุดในปัจจุบันและอนาคต..คือกลุ่มคนที่สามารถผสมผสาน “ทักษะมนุษย์” และพร้อมจะปรับตัวตามความต้องการ ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดแรงงาน..!

*..ข่าวดีที่สุดของโลกวันนี้..ก็คือสิ่งที่เป็นแกนกลางของประสบการณ์มนุษย์ หรือสิ่งที่เราในฐานะมนุษย์ทำได้ดี โดยไม่ต้องพยามยาม..อาจเป็นกำลังให้เราเอาชนะเครื่องจักร รวมถึงทำงานกับพวกมันได้ดีขึ้น..

การศึกษาเกี่ยวกับงานแห่งอนาคต ต่างชี้ให้เห็น ความต้องการทักษะมนุษย์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นความสามารถซึ่งหุ่นยนต์หรือการเรียนรู้ของเครื่องจักร..ไม่อาจจำลองได้..

ทรรศนะและความสามารถของมนุษย์ มีชื่อเรียกหลายอย่าง..ทักษะทางสังคม ทักษะทางอารมณ์ และสังคม..ทักษะแห่งศตวรรษที่21..หรือ..ทักษะเพื่อการทำงานเป็นต้น..สิ่งต่างๆเหล่านี้..ยังคงเป็นจุดแข็ง ตลอดจนเป็นข้อได้เปรียบของมนุษย์ เมื่อเทียบกับเครื่องจักร ซึ่งการแสดงทักษะของมนุษย์นี้..ยังไม่มีอะไรมาทดแทนได้เลย..!

..นี่คือหนังสือแห่งการเรียนรู้..ที่เต็มไปด้วยข้อคิดแห่งเนื้อหาอันไม่รู้จบ ยิ่งสืบค้น..ยิ่งใส่ใจแสวงหาความยั่งยืนอันยิ่งใหญ่ของชีวิตก็จะค้นพบ..

แท้จริงแล้ว..มันคือพันธกิจอันสำคัญของมนุษยชาติทุกๆคนที่สมควรต้องใส่ใจ .เพื่อการดำรงอยู่อย่างหยั่งรู้ถึงกลไกอันสลับซับซ้อน..ต่อชีวิตของโลกและชีวิตส่วนตัวอันแท้จริง...!

“รพีพัฒน์ อิงค์สิทธิ์” ..แปลและถอดความหนังสือเล่มนี้ออกมา..ด้วยภูมิรู้..มีน้ำหนัก..และขยายกว้างต่อเจตนารมณ์ของโลกยุคใหม่..ได้อย่างประณีต..! ทุกสิ่งของหนังสือเล่มนี้จึงคือ..ตำราแห่งการสืบค้นความน่าจะเป็นในความถ่องแท้ของยุุคสมัย..ที่ไม่อาจมองข้ามผ่าน..ด้วยกรณีใดๆ..

“ต้องยอมรับว่า..ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้เรียนวัยทำงาน..ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคใหม่ของอุตสาหกรรมการศึกษา..มหาวิทยาลัยยังไม่ได้ขยับขยายมุมมองต่อกลุ่มนักศึกษา รวมถึงปรับการให้บริการที่เหมาะควรแก่ผู้เรียนที่มีเงื่อนไขในชีวิตอันหลากหลาย

อีกทั้งอุปสรรคสำคัญของความหมายนี้ก็คือ..มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของโลกยังคงเลือก “ใบปริญญา” เป็นต้นแบบอันเบ็ดเสร็จ ต่อการเรียนรู้แห่งชีวิตทั้งหมด..อยู่อย่างนั้น โดยไม่คิดจะเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงใดๆเลย..แม้เมื่อใด!...”