หากกล่าวถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ห้ำหั่นพิฆาต ราวกับเป็นเครื่องจักรสังหารในยุคนี้ บรรดาผู้สันทัดกรณีต่างชี้นิ้วไป “อากาศยานไร้คนขับ” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “โดรน”

ดังจะได้เห็นจากสองสมรภูมิรบ ที่กำลังปะทะกันอย่างดุเดือด ละเลงเลือดกันอย่างหนัก ณ ชั่วโมงนี้

นั่นคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอลกับขบวนการก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธ หรือแม้กระทั่งกองทัพของบางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง

โดยคู่ปรปักษ์แต่ละฝ่าย ต่างเปิดฉากส่งโดรนโจมตีฝ่ายตรงข้ามกัน นอกเหนือจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด ยิงขีปนาวุธเข้าใส่เป้าหมาย รวมถึงการส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปตะลุมบอนระหว่างกันแล้ว

เรียกว่า ชาวโลกเราได้เห็นฉากการดวลกันระหว่างโดรนของกองทัพแต่ละฝ่ายอย่างน่าสะพรึง จนเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็น “สงครามโดรน” กันเลยทีเดียวก็ว่าได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปรากฏว่า เกิดการสู้รบกันด้วยโดรน ยิ่งกว่าปีไหนที่ผ่านมา

ทหารยูเครน ตรวจสอบเศษชิ้นส่วนของโดรนที่ส่งมากจากรัสเซีย โจมตีพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองคาร์คิฟ จนอาคารได้รับความเสียหาย (Photo : AFP)

ตามการเปิดเผยของคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ความมั่นคงอเมริกันใหม่ หรือซีเอ็นเอเอส ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ที่ติดตามสถานการณ์สู้รบด้วยอาวุธโดรนในช่วงรอบปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมา ระบุว่า เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายน กองทัพรัสเซีย ได้ส่งโดรนโจมตีในพื้นที่ต่างๆ ของยูเครนมากถึง 2,576 ลำ โดยในบางจุดนั้น ถูกโจมตีในเวลาเดียวกันถึง 200 ลำก็ยังมี

ทั้งนี้ ในช่วงที่รัสเซีย ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์หันมาใช้โดรนโจมตียูเครน จากเดิมที่ใช้เครื่องบินรบทิ้งบอมบ์ หรือไม่ก็เป็นขีปนาวุธยิงโจมตี ปรากฏว่า ทางรัสเซียได้ใช้โดรนสัญชาติอิหร่าน เป็นเขี้ยวเล็บในการถล่มยูเครน ซึ่งที่นับโด่งดังรู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคือ “เอชอีเอสเอ ชาเฮด 136” หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ชาเฮด” โดยโดรนรุ่นนี้ มีระยะทำการได้ไกลถึง 2,500 กิโลเมตร และสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดจนใช้ปฏิบัติการโจมตีแบบทำลายล้างเป้าหมายไปพร้อมๆ กับโดรน หรือกามิกาเซ่ ได้อย่างน่ากลัว นอกจากนี้ โดรนรุ่นดังกล่าว ก็สามารถพัฒนาติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ สำหรับนำทางได้ ทำให้เดินทางไปยังเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ โดยรัสเซียได้ใช้โดรนรุ่นนี้ของอิหร่าน เป็นเครื่องจักรสังหารทำลายล้างในสงครามรัสเซียยูเครน มาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2022 (พ.ศ. 2565) ซึ่งในครั้งนั้นเพียงช่วงเวลาเดือนเดียวของเดือนตุลาคมในปีดังกล่าว รัสเซียส่งโดรน “เอชอีเอสเอ ชาเฮด 136”

ก่อนที่ทางรัสเซีย จะผลิตและพัฒนาขึ้นมาเอง ในรูปแบบโดรนกามิกาเซ่แบบเอชอีเอสเอ ชาเฮด 136 ข้างต้น ซึ่งถ้าพูดถึงรัสเซีย ได้มีการผลิตและพัฒนาโดรนทางการทหารของตนเองมาก่อนหน้านั้นแล้ว ก่อนจะมาพัฒนาโดรนในแบบชาเฮดในภายหลัง ซึ่งทางประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศสนับสนุนให้มีการผลิตและพัฒนาโดรนทางการทหารในระดับท้องถิ่นของรัสเซียกันเลยทีเดียว

เจ้าหน้าที่ของรัสเซีย ตรวจสอบเศษชิ้นส่วนของโดรนที่ส่งมาจากยูเครน โจมตีพื้นที่แห่งหนึ่งในภูมิภาคมอสโก จนรถยนต์ของประชาชนได้รับความเสียหาย (Photo : AFP)

ส่งผลให้รัสเซีย สามารถผลิตโดรนทางทหารออกมาใช้งานเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา มากถึง 1.4 ล้านลำด้วยกัน ซึ่งทางประธานาธิบดีปูติน ประกาศว่า ในอนาคตจะผลิตให้มากกว่านี้ถึง 10 เท่า

ขณะที่ ทางฝั่งยูเครน ประเทศคู่สงครามของรัสเซีย ก็ระบุถึงแผนการสนับสนุนการผลิตโดรนทางการทหารให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อใช้ต่อกรกับรัสเซีย รวมไปถึงการตอบโต้รัสเซีย แบบข้ามพรมแดนเข้าไปล้างแค้นรัสเซียกันถึงถิ่น

จากการเปิดเผยของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ระบุว่า ในช่วงปีที่แล้วที่เพิ่งผ่านพ้นมา ยูเครนผลิตโดรนทางทหารได้มากถึง 1.5 ล้านลำ เพิ่มมากขึ้นจากปี 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ผลิตได้ 3 แสนลำ หรือคิดเป็น 5 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยูเครนก็ยังมีแผนการที่จะเสริมศักยภาพกำลังการผลิต เพื่อให้ผลิตโดรนทางทหารให้ได้ 4 ล้านลำต่อปี

ยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี กับแผนการผลิตโดรน เพื่อใช้ต่อกรกับรัสเซีย (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีเซเลนสกีข้างต้น ก็เป็นที่กังขาของใครต่อใครอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าหากยูเครน ผลิตโดรนทางทหารได้จำนวนดังกล่าวเพื่อใช้ในการโจมตีกองทัพรัสเซียได้จริง ยูเครนก็คงไม่ตกในสภาพที่เลวร้าย ตกเป็นรองกองทัพรัสเซีย จนต้องบากหน้าไปขอรับความช่วยเหลือจากเหล่าบรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก อาทิเช่น สหรัฐฯ อย่างที่เป็นอยู่

ขณะที่ สถานการณ์สู้รบในสมรภูมิของภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็ต้องบอกว่า ดุเดือดเลือดพล่านไม่แพ้ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดวลกันด้วยโดรนทางทหาร ระหว่างกองทัพอิสราเอล กับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เช่น ฮามาสในฉนวนกาซา ฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ฮูตีในเยเมน รวมไปถึงกองทัพประจำการหลักระดับประเทศด้วยกัน นั่นคือ อิหร่าน นับตั้งแต่สงครามปะทุลุกโชนขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 (พ.ศ. 2566) เป็นต้นมา ถึง ณ ปัจจุบัน

โดยสงครามโดรนในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ต้องกล่าวขวัญถึงก็คือ เหตุการณ์เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2024 (พ.ศ. 2567) เมื่ออิหร่าน หนึ่งในประเทศผู้ผลิตโดรนทางทหารระดับแถวหน้า ได้ส่งโดรนทางทหารโจมตีอิสราเอล จำนวนถึง 185 ลำ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ถูกยกให้เป็นปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว โดยอิหร่านได้ส่งโดรนทางทหารมาโจมตี ควบคู่ไปกับการถล่มด้วยขีปนาวุธ

บรรดาฝูงโดรนในอิหร่าน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตโดรนรายสำคัญ (Photo : AFP)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนั้น “ไอรอนโดม” ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอล สามารถสกัดการโจมตีด้วยขีปนาวุธไว้ได้ถึงร้อยละ 99 และสามารถสกัดการโจมตีด้วยโดรนจากทางอิหร่านได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จากการเปิดเผยของทางการอิสราเอล

ทว่า ในพื้นที่ตอนเหนือของอิสราเอล กลับถูกโดรนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในภาคใต้ของเลบานอน ที่อิหร่านให้การสนับสนุน ลอบเข้ามาโจมตีจนสร้างความเสียหายให้แก่อิสราเอลอยู่เป็นระยะๆ เช่นเดียวกับ ทางกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ก็ยิงทั้งขีปนาวุธและส่งโดรน หลบเลี่ยงระบบป้องกันภัยทางอากาศต่างๆ เข้ามาโจมตีถึงในกรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอล จนสร้างความเสียหายให้แก่อิสราเอลได้หลายครั้งเช่นกัน

นับแต่นี้ต่อไป ก็จะได้เห็นฝูงโดรนถล่มคู่ปรปักษ์กันมากขึ้น เพราะจัดว่าเป็นอาวุธที่ราคาไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับอาวุธอื่นๆ เช่น ขีปนาวุธ อย่างไรก็ดี ทางบรรดานักประดิษฐ์อาวุธ ก็ผลิตคิดค้นและพัฒนา อาวุธเครื่องยิงต่างๆ ที่ใช้ต่อต้านโดรนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเหมือนกัน

เครื่องยิงต่อต้านโดรน และยุทโธปกรณ์ที่ใช้สำหรับต่อต้านโดรน (Photo : AFP)