ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 20 ไร่ ทำเกษตรแบบผสมผสาน มีกิน มีใช้ มีเก็บ ทั้งปี

เพื่อขยายผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง สู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง  สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จึงจัดทำโครงการ “ขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขาฯ” ขึ้น เพื่อต่อยอดองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ให้กระจายครอบคลุม ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินทั่วประเทศ 221 แห่ง มีองค์ความรู้หลายสาขา ได้แก่ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ ที่เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรเข้าไปศึกษาดูงานแล้วนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. เปิดเผยว่า  การขยายผลจะดำเนินการในขอบข่ายทั่วประเทศ โดยทางภาคเหนือศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ได้น้อมนำพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาดำเนินการ ตั้งแต่การฟื้นฟูพื้นที่จากความแห้งแล้งสู่ป่าสมบูรณ์ด้วยการปลูกป่าตามแนวทางที่พระองค์พระราชทาน เช่น ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก และปลูกป่าโดยใช้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมมาปลูกเสริม ควบคู่กับการจัดทำระบบชลประทานแบบป่าเปียก จากไม่มีต้นไม้ ปัจจุบันกลับคืนความอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้เขียวขจีมีความชื้นเป็นผลดีต่อการทำการเพาะปลูกของประชาชนโดยรอบพื้นที่ และจังหวัดทางภาคเหนือ

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ ได้ทำการศึกษา วิจัย ทดลอง ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำกินที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ของภาคเหนือ มีผลสำเร็จมากมายซึ่งได้เปิดให้ประชาชนในพื้นที่และห่างไกลเข้าศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปทำในพื้นที่ของตนเอง จนประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ความสำเร็จเหล่านี้ได้เข้าถึงประชาชนที่สนใจเพิ่มมากขึ้น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จึงได้ขยายผลสู่ราษฎรในพื้นที่รอบศูนย์ฯ และจังหวัดทางภาคเหนือ โดยพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านต่างๆ ขึ้น เพื่อให้ประชาชน ตลอดถึงหน่วยราชการที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน เป็นการเข้าถึงความสำเร็จที่

น้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติใช้จริง ที่ทุกคนสามารถนำไปทำเองที่บ้านได้เลย เช่น  ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน ของนางดาวเรือง เจริญทรัพย์ ราษฎรหมู่ที่ 6 ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้เข้าศึกษาดูงาน ฝึกอบรมการทำเกษตรแบบผสมผสานจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ แล้วนำความรู้เหล่านั้นไปทำในพื้นที่ของตนเอง และประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ปัจจุบันได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว

สำหรับนางดาวเรือง เจริญทรัพย์  เกษตรกรศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน  ตำบลป่าเมี่ยง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เดิมปลูกมะขามหวานในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวมีผลผลิตปีละครั้ง บางปีมะขามติดเชื้อราขายไม่ได้ก็ขาดทุน รายได้ไม่เพียงพอเกิดภาวะหนี้สินที่ยืมมาจากแหล่งเงินทุน ต้องหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้  จึงเข้าศึกษาดูงานและฝึกอบรมการทำเกษตรแบบผสมผสานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องใคร้ฯ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากบ้าน 12 กิโลเมตร เมื่อทำแล้วประสบความสำเร็จ มีผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี หากพืชตัวไหนมีปัญหาก็จะมีพืชชนิดอื่นทดแทนให้ได้ขาย ทำให้มีผลผลิตขายอย่างต่อเนื่องทั้งปี จากนั้นจึงเข้ารับการอบรมจากทางศูนย์ฯ ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

มีพื้นที่ 20 ไร่ แบ่งเป็นแปลงเกษตรผสมผสานเต็มพื้นที่ ปลูกพืชผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน หมุนเวียนชนิดตามฤดูกาล ขุดบ่อเลี้ยงปลานิล ปลาดุกบิ๊กอุย สร้างบ่อเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบ เพื่อผลิตลูกกบจำหน่าย แปรรูปผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์แห้ง เช่น มะตูมแห้ง กระเจี๊ยบแดงแห้ง ดอกเก๊กฮวยแห้ง กล้วยตาก เป็นต้น รวมทั้งลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีสำหรับบำรุงพืชที่ปลูกโดยนำวัตถุดิบเหลือใช้ในพื้นที่มาผลิตน้ำหมักชีวภาพ เพาะขยายพันธุ์ผักพื้นบ้านและสมุนไพรขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

“ทุกวันนี้มีความสุขกับการทำงานอยู่กับบ้าน กับสมาชิกในครอบครัว มีรายได้หมุนเวียนจากการจำหน่ายผลผลิตทั้งปี มีเงินเก็บออม หนี้สินเดิมหมด ทั้งมีอาหารพืชผัก ปลา กบ ไว้กินในครอบครัว ผลผลิตทั้งหมดจะนำออกขายด้วยตนเอง โดยจำหน่ายที่ร้านค้าชุมชนน้ำพุร้อนดอยสะเก็ด  ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของชุมชน นอกจากนี้ยังขายทางออนไลน์อีกด้วย จึงรู้ว่าลูกค้าต้องการพืชผักแบบไหนและช่วงไหน  ต้องการปลาหรือกบที่มีขนาดน้ำหนักเท่าไหร่ จึงนำมาเป็นแนวทางในการผลิตทำให้ผลผลิตขายได้หมดทุกครั้งที่นำออกไปขาย  ตอนนี้มีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิต การผลิต และจำหน่ายแบบพึ่งพาตนเองที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทุกวัน” นางดาวเรือง เจริญทรัพย์  กล่าว

ในพื้นที่จำนวน 20 ไร่ นางดาวเรือง เจริญทรัพย์  ได้จัดสรรเป็นพื้นที่อยู่อาศัย สร้างบ่อกบ ขุดบ่อเลี้ยงปลาดุก จำนวน 1 ไร่  ปลูกกล้วยน้ำว้า  2 ไร่  ปลูกไม้ผลและผักหวานป่า 17 ไร่ ปัจจุบันเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริด้านเกษตรผสมผสาน ที่ได้รับการขยายผลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ผู้สนใจสามารถเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานได้ในหลายฐานการเรียนรู้ เช่น  ฐานการเรียนรู้การเลี้ยงปลา เช่น ปลานิล ปลาดุกบิ๊กอุย  การปลูกไม้ผลประเภทมะม่วง มะขาม ลำไย มะละกอ กล้วยหอม  การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กบประเภทกบนา  การปลูกพืชผัก อาทิ ผักกาด ฟักทอง กะหล่ำปลี คะน้า พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว  การปลูกผักหวานป่า  และการแปรรูปผลผลิตการเกษตรในรูปการตากแห้ง เป็นต้น