ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

หากจะอ้างแนวคิดของฮันติงตัน เกี่ยวกับการกระทบกันของอารยธรรม (The Clash of Civilization) ก็ต้องโทษว่ามันเป็นความขัดแย้งโดยธรรมชาติของอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมตะวันออก หรือถ้าจะตีความว่ามันคือการกระทบกันของศาสนาหากฮันติงตันจะหมายถึง นั่นคือความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางศาสนาคริสต์กับอุดมการณ์ทางศาสนาอิสลาม เหมือนอย่างที่เคยเกิดในสมัยสงครามครูเสด ก็ดูว่าจะเป็นความผิวเผินเกินไปที่จะสรุปว่ามันเป็นความขัดแย้งทางอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมตะวันออก

ทั้งนี้เพราะเหตุว่าสิ่งที่อ้างว่าเป็นอารยธรรมนั้นความจริงคือ สภาพอนารยธรรม และความเสื่อมโทรมทางศาสนา ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเข่นฆ่ากันในหลายภูมิภาค

ยิ่งถ้ามองในแง่ศาสนาก็ต้องบอกว่ามันยิ่งไม่ใช่ ความขัดแย้งระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาคริสต์ หากแต่มองได้ว่ามันเป็นความเสื่อมโทรมด้านอุดมการณ์ทางศาสนา ดังเช่น ความขัดแย้งในยูเครน ถ้าเอาศาสนามาเป็นโจทย์ตั้ง จะพบว่าต่างฝ่ายคือยูเครน-รัสเซีย ก็นับถือศาสนาคริสต์ โดยยูเครนนั้นแต่เดิมส่วนใหญ่ก็นับถือคริสต์ออร์โธดอกซ์ และรัสเซียก็เช่นกัน ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งผู้นำอย่างเซเลนสกี ก็นำเอาเรื่องศาสนามาเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดความแปลกแยก โดยใช้อำนาจรัฐโจมตีคริสต์ออร์โธดอกซ์ในยูเครน และสนับสนุนคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เพื่อให้ตัดสัมพันธ์ทางนิกายศาสนากับรัสเซีย และสร้างความกลมกลืนทางศาสนากับยุโรป

ทว่าเรื่องดังกล่าวมันเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความขัดแย้ง แต่เรื่องที่มันเกี่ยวพันกันนั้นคือความเสื่อมโทรมของอารยธรรม และการแสดงออกถึงการหน้าไหว้หลังหลอก ตีสองหน้า สองมาตรฐาน ของการกำหนดศีลธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศหรือการกำหนดกฎระเบียบ ซึ่งแน่นอนไม่อาจแบ่งแยกออกพิจารณาในแต่ละประเทศหรือแต่ละพื้นที่ เพราะมันเกิดเหตุการณ์ที่มีรูปแบบคล้ายกัน ในตะวันออกกลางที่อิสราเอลทำการละเมิดกฎหมายในทุกมาตรา ตลอดรวมไปถึงมาตรฐานของหลักมนุษยธรรม และอ้างศาสนา เรื่องการเป็นเจ้าของแผ่นดินตามคัมภีร์โบราณ แต่กระทำที่ไร้มนุษยธรรมกลับเป็นที่ยอมรับได้ของสหรัฐฯ หรือ ยุโรปหลายประเทศ ซึ่งนอกจากจะยอมรับแล้ว ยังให้การสนับสนุนการกระทำที่ป่าเถื่อน ที่เรียกว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับการใช้คำดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงมันคือการเข่นฆ่าที่ไร้มนุษยธรรมขนาดใหญ่ของโลก

พร้อมๆกันนั้นเหตุการณ์ของความขัดแย้งโดยไร้มาตรฐาน จึงเปิดเผยตัวตนว่ามันคือความโลภ ความเห็นแก่ตัวในการยึดครองดินแดน กอบโกยโภคยทรัพย์อันเป็นพื้นฐานของลัทธิการล่าอาณานิคม ซึ่งฝ่ายอิสราเอลอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของตนเอง ในขณะที่กรณียูเครน รัสเซียก็อ้างการสั่นคลอนในความมั่นคงของตนเอง โดยที่ฝ่ายแรกมีเป้าหมายในการล่าอาณานิคม ในขณะที่ฝ่ายหลังมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการล่าอาณานิคม

ความเกี่ยวพันของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งและแนวคิดที่แตกต่างกัน โดยปราศจากศีลธรรม หรือ กฎหมายระหว่างประเทศ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และนำไปสู่ลัทธิการใช้อำนาจเป็นใหญ่ อย่างในกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศจะซื้อกรีนแลนด์ จากเดนมาร์ก หรือถ้าไม่ขายก็อาจจะใช้กำลังทหารเข้ายึดครองโดยอ้างเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่แท้จริงมันคือแนวคิดหลักของลัทธิล่าอาณานิคมนั่นเอง

ในปี 2024 รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ตกกับนักเศรษฐศาสตร์ 3 ท่านด้วยกันคือ Daron Ajemoglu ,Simon Johnson และ James Robinson ซึ่งนำเสนองานวิจัยเรื่อง The Impac of Institutions on The Well-Being of Nations และงานวิจัยนี้นำไปปูเป็นพื้นฐานของหนังสือขายดีชื่อ “Why Nations Are Declining” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2013 ในประเด็นที่ผู้วิจัยนำเสนอคืออิทธิพลของสถาบันสังคมต่อความรุ่งเรืองนั้นน่าสนใจและมีนัยสำคัญ แต่ก็ยากที่จะยอมรับว่าการรวมเอาระบบการเมืองและเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบตามกฎหมายเป็นสิ่งที่ดีแต่หากเป็นในทางตรงข้ามจะเป็นสิ่งที่เลวทั้งหมด

ทั้งนี้หากเราจะมองว่าความรุ่งเรืองหรือความเสื่อมในแต่ละประเทศเกิดจากรูปแบบสถาบันสังคมดังกล่าวในแต่ละประเทศ ก็เท่ากับว่าเรามองข้ามความเกี่ยวพันของประเทศต่างๆในโลกใบนี้ ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องมาพิจารณาว่า “ทำไมโลกจึงเสื่อมทรามลง”

อย่างไรก็ตามผู้ได้รับรางวัลโนเบลได้เชื่อมโยงไปถึงความอ่อนไหวของสังคมและวัฒนธรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการล่าอาณานิคม โดยคณะกรรมการตัดสินรางวัลได้แถลงว่า “การล่าอาณานิคม” มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันในหลายๆสังคม ซึ่งในบางประเทศนำมาสู่ความรุ่งเรือง เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ในอีกฟากของสังคมันคือตำนานของการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ขูดรีด และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมใช่หรือไม่

ในขณะที่ผลพวงจากลัทธิล่าอาณานิคม นำไปสู่ความขัดแย้งทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ดินแดน จนทำให้เกิดสงคราม สภาพเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของโลก

ทั้งนี้เพราะประเทศต่างๆมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่มีปฏิสัมพันธ์กันในโลกใบนี้ ปัญหาใหญ่ก็คือ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และทฤษฏีการเมืองเป็นทฤษฎีโดดๆที่มิได้นับรวมเอาค่านิยมทางสังคม ศีลธรรม และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสถาบันต่อการกระทำของประเทศอื่นๆที่อยู่ร่วมโลก ยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าข้อมูลข่าวสารก็สามารถแพร่กระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผลกระทบของการกระทำในภูมิภาคหนึ่งสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันในอีกภูมิภาคที่ห่างไกลได้ในช่วงสั้นๆ Peter Senge ผู้สร้าง “การคิดอย่างเป็นระบบ” กล่าวว่า “โลกนี้มีความสัมพันธ์เป็นวงกลม แต่เราคิดแบบเป็นเส้นตรง”

จากมุมมองที่เป็นพลวัตเรา จึงเห็นว่าระบบความมั่นคงนั้นไร้ประสิทธิภาพ ระบบเศรษฐกิจนำไปสู่วิกฤตกาลและความไม่เท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น ระบบการเมืองสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชน แม้แต่ระบบประชานิยม กลับนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล

ดังนั้นจึงเกิดปรากฏการณ์หน้าไหว้หลังหลอก เช่น กรณียูเครน ที่ยุโรปประกาศแซงก์ชั่น รัสเซีย แต่ก็ยังกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการยังคงซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย ด้วยกลวิธีต่างๆ หรือกรณีตะวันออกกลาง ตะวันตก ประกาศหลักการเคารพในอธิปไตย สนับสนุนประชาธิปไตย ความเท่าเทียม มนุษยธรรม และกฏระเบียบของกฎหมาย ในขณะที่ออกมาปกป้องการกระทำของอิสราเอลที่ทำตรงข้าม

ดังนั้นความเสื่อมโทรมของโลกใบนี้ จึงไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนของสถาบันสังคมหรือระบบใดๆ ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันเป็นการเสื่อมโทรมของศีลธรรม คุณค่าอุดมการณ์ทางศาสนา อันมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางสังคมของแต่ละประเทศ เสมือนโรคมะเร็งที่กระทบต่อระบบทั้งร่างกายของมนุษย์

ในที่สุดความเสื่อมโทรมดังกล่าวก็จะนำไปสู่หายนะของโลกอย่างยากจะหลีกเลี่ยง