วันที่ 15 ม.ค.68 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่2) ประจำปี 2568 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นางสาวทวิดา กมลเวชช นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

 

ในระเบียบวาระที่ 1 นายชัชชาติ ได้ส่งเอกสารรายงานผลการดำเนินการตามญัตติของนางสาวภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครตรวจสอบการดำเนินโครงการชุมชนเข้มแข็งตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2567 ต่อสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดยเฉพาะเรื่อง ประเด็นการตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อครุภัณฑ์ ประเด็นการบังคับใช้มาตรฐานครุภัณฑ์ของโครงการดังกล่าว ประเด็นการจัดหากล้องวงจรปิด ประเด็นพิจารณาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมต่าง ๆ เป็นต้น

 

โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการนี้ต้องเกิดการใช้เงินอย่างคล่องตัวและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อมีชุมชนตัวอย่างแล้ว ควรขยายไปชุมชนอื่น สิ่งสำคัญคือการสร้างชุมชนต้นแบบ และนำปัญหาต่าง ๆ มาแก้ไขให้ดีขึ้น

 

นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า การกำหนดแนวทางการใช้งบประมาณต้องมีความชัดเจน ว่าสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง เนื่องจากหลายเขตไม่กล้าทำ เช่น การใช้งบประมาณโครงการชุมชนละ 200,000 บาท บนที่ดินของหน่วยงานอื่น เป็นต้น

 

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือ ข้าราชการในชุมชนบางคนแยกไม่ออกระหว่างครุภัณฑ์กับที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เช่น ประชาชนอยากได้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์อนามัยชุมชนหรือพื้นที่กิจกรรม ข้าราชการบางคนมองว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นครุภัณฑ์สามารถเคลื่อนที่ได้ เนื่องจากแต่เดิมเคยจัดซื้อในนามครุภัณฑ์ แต่พอเป็นงบโครงการชุมชนละ 200,000 บาท กลับถูกตีความว่าเป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หลายเขตจึงยังไม่แน่ใจในหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของโครงการนี้ อีกเรื่องคือการนำสิ่งของที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาให้ ซึ่งไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงมีการร้องเรียนเกิดขึ้นจำนวนมาก

 

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า การใช้งบประมาณโครงการนี้ต้องใช้พร้อมกันหรือไม่ เพราะแต่ละชุมชนจัดประชุมได้ไม่พร้อมกัน รวมถึงบางชุมชนไม่สามารถจัดประชุมได้ ขณะเดียวกัน ชุมชนที่พร้อมส่งเรื่องให้เขต แต่เขตบอกต้องรอให้ครบทุกชุมชน จึงจะวางฎีกา (ยื่นใบแจ้งขอเบิกเงินจากคลัง) ได้ จึงอยากทราบว่าแนวทางปฏิบัติของโครงการนี้เป็นอย่างไร

 

ด้านนายศานนท์ ชี้แจงว่า ปัญหาดังกล่าวมี 2 เรื่องหลักคือ 1.การเรียนรู้ระหว่างเขต จากหลักเกณฑ์ที่มีการปรับไป หลายเรื่องสามารถทำได้แล้ว แต่หลายสำนักงานเขตยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งมีการประชุมแนวดิ่งไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.67 เพื่อกำหนดแนวทาง รวมถึงการกำหนด Best Practice (แนวปฏิบัติเพื่อความสำเร็จ) เช่น การนำความสำเร็จในการลอกท่อของเขตวังทองหลาง หรือการทำถนนที่เขตสายไหม มาเป็นตัวอย่างให้เขตอื่นเห็นว่าสามารถทำได้ ซึ่งมีหลายเขตที่เป็นตัวอย่างในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป 2.ในอนาคตมีแผนให้ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องผ่านสำนักงานเขต อยู่ระหว่างจัดทำแผนร่างข้อบัญญัติใหม่ร่วมกันระหว่างสภา กทม. และ กทม. มุ่งหวังให้เกิดขึ้นจริงในปีงบประมาณ 2569

 

ส่วนเรื่องการพิจารณาครุภัณฑ์หรือสิ่งปลูกสร้างและการได้ของที่ไม่ตรงตามต้องการ จะกลับไปทำความเข้าใจและกวดขันเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นมีแนวทางดำเนินการแล้ว เน้นทำตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนเรื่องต้องรอให้ทุกชุมชนพร้อมกันหรือไม่ เนื่องจากมีการท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่าการจัดซื้อจัดจ้างสิ่งของคล้ายกันควรจัดซื้อในคราวเดียวกัน ทำให้แต่ละชุมชนต้องเปิดเวทีให้พร้อมกัน แล้วรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายกันเพื่อจัดซื้อคราวเดียว จึงทำให้ต้องรอความพร้อมของแต่ละชุมชน โดยปี 2567 มีการเปิดเวทีครบ 100% แล้ว ส่วนความต้องการงบประมาณ 200,000 บาท ขึ้นอยู่แต่ละชุมชน อย่างไรก็ตาม จะพยายามกวดขึ้นเรื่องนี้ และทำให้โปร่งใสตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด