หลังจากที่ "ติ๊กต๊อก" หรือ "TikTok" และ"ไบต์แดนซ์" (ByteDance) ซึ่งเป็นบริษัทแม่สัญชาติจีน ได้ส่งสัญญาณเตือนระหว่างการพิจารณาคดีในศาลฎีกาของประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จะบังคับให้ขายกิจการ มิฉะนั้นจะถูกแบนในประเทศสหรัฐฯ
ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนต่อหน้าผู้พิพากษาทั้ง 9 คน กำหนดให้ไบต์แดนซ์ต้องขายติ๊กต๊อกภายในวันที่ 19 ม.ค. มิเช่นนั้นจะต้องถูกแบนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งทางบริษัทได้ยื่นคำร้องขอให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมาย โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก
ขณะนี้ มีผู้ใช้งาน "ติ๊กต๊อก" ในประเทศสหรัฐฯ ประมาณ 170 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ โดยสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมายนี้เมื่อปีที่แล้วด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนท่วมท้นจากทั้งสองพรรค เนื่องจากสมาชิกสภามีความกังวลว่า รัฐบาลจีนอาจใช้ติ๊กต๊อกเป็นเครื่องมือสอดแนมชาวอเมริกันและสร้างอิทธิพลทางความคิดอย่างแนบเนียน
ล่าสุด ได้เกิดรากฏการณ์ "ผู้ลี้ภัยติ๊กต๊อก" (TikTok refugee) ที่ผู้ใช้งาน "ติ๊กต๊อก" แห่กับไปสมัครแอปพลิเคชัน "เสี่ยวหงชู" หรือ "Xiao Hong Shu" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ใช้ติ๊กต๊อก กว่า 170 ล้านคนในสหรัฐฯ พร้อมที่จะมองหาทางเลือกใหม่ หลังจากมีรายงานว่าศาลฎีกาสหรัฐฯ เร่งพิจารณาคดีเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จะบังคับให้ติ๊กต๊อกขายกิจการภายในวันที่ 19 ม.ค. มิฉะนั้นจะต้องถูกแบนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ
สำหรับแอปพลิเคชัน "เสี่ยวหงชู" หรือ "Xiao Hong Shu" ที่เป็นทั้ง Social Media และ E-commerce ได้ก้าวเข้ามาครองใจชาวจีนได้อย่างรวดเร็ว โดยก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 โดย "Miranda Qu" และ "Charlwin Mao" เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแนะนำการท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งในต่างประเทศให้กับชาวจีน
นอกจากนี้ ยังมีไว้เพื่อแชร์รีวิวประสบการณ์ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว อาหาร การแต่งหน้า ไปจนถึงเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ลักษณะเด่นของคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มนี้ คือ เล่นง่าย เข้าถึงง่าย และยังสามารถช้อปปิ้งผ่านแอปพลิเคชันโดยตรงได้ คล้าย ๆกับแอปพลิเคชัน "ติ๊กต๊อก" หรือ " TikTok"
ปัจจุบัน "เสี่ยวหงชู" XiaoHongShu ก้าวขึ้นมาเป็นโซเชียลมีเดีย ยอดนิยมอันดับที่ 5 ของประเทศจีน มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 200 ล้านรายต่อเดือน โดยฐานผู้ใช้งานส่วนใหญ่ คือประชากร Gen Y – Gen Z อายุระหว่าง 20-30 ปี และเป็นผู้หญิงมากถึง 88 %
ทั้งนี้ ในภาษาจีน คำว่า “เสี่ยว" แปลว่า "เล็ก" ส่วนคำว่า "หงชู" ที่แปลว่า "มันเทศ" หากนำมารวมกันเป็น "เสี่ยว หงสู่" จะแปลว่า "มันเทศน้อย" จึงกลายมาเป็นเรียกชื่อเล่นของแอปโซเชียลมีเดียยอดนิยมรายนี้ของจีน เมื่อกลุ่มผู้ใช้ติ๊กต็อกจากอเมริกาแห่อพยพเข้ามายึดพื้นที่ในแอปเสี่ยวหงซู จนดูกลายเป็นแอปใหม่ของพวกฝรั่งตาน้ำข้าว ที่น่าจะเรียกว่า “แอปเสี่ยวหยางอี๋ว์” ซึ่งแปลว่า “มันฝรั่งน้อย”
นอกจากนี้ "เสี่ยวหงชู" ได้ฉายาว่าเป็น "อินสตาแกรมเวอร์ชันจีน" กลายเป็นแอปฟรีที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดบน iOS และติดท็อป 10 บนกูเกิลเพลย์ (Google Play) เป็นครั้งแรก โดยผู้ใช้ใหม่จำนวนมากเรียกตัวเองว่า "ผู้ลี้ภัยติ๊กต๊อก" (TikTok refugee)
สำหรับคนไทยที่จะสมัครเข้าร่วม "เสี่ยวหงชู" (XiaoHongShu) ได้ เพียง Search ชื่อแอปพลิเคชันลงใน App Store หรือ Play Store แล้วสังเกตไอคอนอักษรจีนบนพื้นสีแดง โดยหน้าฟีดของ "เสี่ยวหงชู" จะคล้ายกับ ติ๊ต๊อก และ Lemon8 ค่อนข้างมาก สามารถกดชมโพสต์ที่ต้องการ แล้วคอมเมนต์ใต้โพสต์ กดดาว กดหัวใจ หรือ Copy Link เพื่อแชร์ต่อไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ด้วย
#เสี่ยวหงชู #XiaoHongShu #TikTokrefugee #ติ๊กต๊อก #TikTok #ผู้ลี้ภัยติ๊กต็อก #เร็ดโน้ต